กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้ากำหนดนโยบายด้านพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน ตามปฏิญญาปักกิ่งของที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน วิกฤตโลกร้อน สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพืชพลังงานทดแทนแบบยั่งยืน
นายสมศักดิ์ ปริศนานนันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแถลงการณ์ปฏิญญาปักกิ่ง ที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย — ยุโรป หรือ อาเซม ครั้งที่ 7 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาว่า ทั้ง 42 ประเทศจากทวีปเอเชียและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียู ยืนยันถึงเป้าหมายการกำจัดความยากจน ภาวะโลกร้อนและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นหลัก ซึ่งเตรียมกลยุทธ์แบบแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวแบบบูรณาการร่วมกัน เพิ่มการพัฒนาความร่วมมือที่ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดโภคภัณฑ์ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร การอำนวยความสะดวกด้านการค้า และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอาเซมในเรื่องผลิตผลทางการเกษตรและธัญพืช ขยายการลงทุน ยกระดับรายได้ และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
สำหรับปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น จะเชื่อมโยงกับปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งจะรับมือโดยใช้การพัฒนาแบบยั่งยืนและสอดคล้องกัน ภายใต้กรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) และพิธีสารโตเกียว ซึ่งประเทศพันธมิตรอาเซมจะร่วมกันพัฒนาการใช้พลังงานแบบผสม ปรับปรุงโครงสร้างการใช้พลังงาน รวมถึงพลังงานชีวภาพที่ยั่งยืนโดยไม่กระทบกับความมั่นคงด้านอาหารและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายการค้นคว้าพัฒนาพลังงานมลพิษต่ำที่ปลอดภัยและยั่งยืน นอกจากนี้จะเน้นความเท่าเทียมกันในสังคม โดยจะเน้นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้น ทั้งด้านการศึกษา และสิทธิมนุษยชน เพื่อบีบช่องว่างด้านความแตกต่างด้านฐานะของประชาชนให้แคบลง
ทั้งนี้ ในกรอบของอาเซม ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องวิกฤตโลกร้อน และการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น โดยเห็นว่าประเทศเอชียและยุโรปต้องร่วมมือกันในการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของอาหารและการรับรองมาตรฐาน รวมถึงการผลักการเจรจาการค้ารอบโดฮาให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อลด เลิก มาตรการอุดหนุนและอื่นๆ ที่บิดเบือนตลาดทำให้ประเทศกำลังพัฒนายิ่งยากจนลง โดยทางกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งดำเนินการเพื่อกำหนดเขตการเพาะปลูกสินค้าให้ชัดเจนระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ในการควบคุมปริมาณการผลิตและการออกสู่ตลาด รวมทั้งให้มีตลาดและอุตสาหกรรมต่อเนื่องรองรับผลผลิต ดูแลด้านต้นทุนค่าขนส่ง (ระบบ Logistics) เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศและการส่งออก ตลอดจนสนับสนุนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหาร
ดังนั้น เพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก สำหรับการลดปัญหาภาวะโลกร้อน ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนบรรเทาภาวะโลกร้อนด้านการเกษตร ระหว่างปี 2551 — 2554 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการเกษตร การป้องกันและแก้ไขปัญหา เป็นการนำเทคโนโลยีของแต่ละหน่วยงานมาใช้ในการป้องกัน แก้ไขและปรับตัว เพื่อบรรเทาปัญหาจากภาวะโลกร้อนด้านการเกษตร อีกทั้งช่วยลดความรุนแรงของปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่นการปลูกไม้ยืนต้น การจัดทำพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพืชพลังงาน การอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อรักษาน้ำในดิน การจัดระบบการผลิตปศุสัตว์ การไถกลบตอซัง และการติดตามผลกระทบจากความแห้งแล้งด้านดินและพืชเศรษฐกิจ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--