1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 - 15 ต.ค. 2551) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 877.06 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 594.61 ตัน สัตว์น้ำจืด 282.45 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.87 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.71 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 90.63 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 8.80 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 70.20 ตัน
การตลาด
ญี่ปุ่นระงับการนำเข้า “ ซูริมิ “
นายมานะ ศรีพิทักษ์ ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่า สาเหตุมาจากโรงงานผลิตซูริมิ ในประเทศญี่ปุ่นมีปัญหาเนื่องจากผู้ซื้อรายใหญ่คือญี่ปุ่น อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นเองประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยประกอบกับราคาที่แพงมากขึ้นทำให้เขาไม่สามารถซื้อได้ทำให้โรงงานที่ซื้อปลาซูริมิ จากประเทศไทยในประเทศญี่ปุ่น ขาดทุนประมาณ 30% และมีแนวโน้มเลิกกิจการอีกจำนวนมาก ล่าสุดโรงงานในประเทศญี่ปุ่นได้รวมตัวกันเพื่อหยุดซื้อปลาซูริมิจากต่างประเทศประมาณ 2 เดือน ทำให้ในระยะเวลา 2 เดือนนี้ โรงงานที่ผลิตซูริมิในประเทศไทย ไม่สามารถส่งออกได้ทั้งนี้ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ผลิตซูริมิ ประเทศคู่แข่งอย่างอินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับเราด้วย
ปัจจุบันโรงงานผลิตซูริมิในประเทศไม่มีเงินซื้อปลาจากชาวประมง เนื่องจากสต็อกเต็มหมด โดยมีสต็อกซูริมิ ประมาณ 30,000 ตัน ทำให้ขณะนี้ทางโรงงานไม่สามารถรับซื้อวัตถุดิบจากชาวประมงได้ ประกอบกับผู้ประกอบการเองไม่มีเงินพอ ด้วยเหตุนี้ จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแล ด้วยการให้สินเชื่อราคาถูกกับทางโรงงาน เพื่อให้โรงงานสามารถซื้อปลากับชาวประมงหรืออาจตรึงราคาไว้ระดับหนึ่ง
นายทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัทแปซิฟิกแปรรูปสัตว์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อปลาบดซูริมิ กล่าวว่า ปัญหาของผู้ประกอบการในเวลานี้คือ ประเทศญี่ปุ่น ได้งดการสั่งซื้อแล้วประมาณ 2 เดือน เหตุผลเนื่องจากมีสต็อกสินค้าจำนวนมากในช่วงต้นปี ตอนนี้เราเสนอขายไปราคาเท่าไรเขาก็ไม่สน ทำให้ไม่มีราคาอ้างอิง เพราะไม่มีคนซื้อ ทางออกของผู้ประกอบการในเวลานี้ คือ สต็อกสินค้า และหาตลาดใหม่ระบายสินค้า แต่ก็ได้ไม่มาก เนื่องจาก 70% ของปลาบดอยู่ที่ญี่ปุ่น บางรายโชคดี มีโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปก็นำมาบดผลิตเป็นอาหารสำเร็จเพื่อแก้ปัญหา และหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ จะมีปัญหาเกิดขึ้น ก็คือ ทางผู้ประกอบการผู้ผลิตและส่งออกปลาบด จำเป็นต้องงดซื้อปลาจากเรือประมง เนื่องจากปลาบดขายไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะช่วยได้ คือ ให้สินเชื่อสำหรับการสต็อกสินค้าให้กับผู้ประกอบการ เพื่อรอเวลาให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.38 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 37.92 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.54 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.42 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 59.47 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.05 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 118.57 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.43 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 170.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.60 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 114.97 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 4.37 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 103.33 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 105.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.67 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.83 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.68 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.15 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 125.71 บาท ของสัปดาห์ก่อน 5.71 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10.37 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 10.02 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.35 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 1—7 พ.ย.2551)เฉลี่ยกิโลกรัมละ 27.33 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 28.70 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.37 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 3-9 พฤศจิกายน 2551--