สศก. เตรียมดึงข้อมูลดาวเทียม THEOS สำรวจพื้นที่การเกษตรของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday November 13, 2008 13:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เตรียมนำข้อมูลจาก THEOS ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย ที่ยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยมีสถานีควบคุมอยู่ที่อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี มาใช้สำรวจพื้นที่ทางการเกษตร พยากรณ์ผลผลิตสินค้า ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันเหตุการณ์

นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังที่ดาวเทียม THEOS (Thailand Earth Observation System) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย ได้ถูกส่งขึ้น ณ ฐานจรวดเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีสถานีควบคุมและรับสัญญาณอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อควบคุมการโคจรและตรวจสอบการทำงาน โดยดาวเทียม THEOS ได้บันทึกข้อมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม บริเวณเกาะภูเก็ต และภาพขาวดำบริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของหาดกะตะใหญ่ และหาดกะตะน้อย ซึ่งประเทศไทยจะนำข้อมูลที่ได้มาวางรากฐานการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงประโยชน์ด้านทรัพยากรโดยเฉพาะด้านการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดิน การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง การทำแผนที่ การวางผังเมือง การจัดการแหล่งน้ำและอุทกภัย

ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีการนำข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT, SPOT และ IKONOS มาใช้ในการดำเนินงานสำรวจเนื้อที่เพาะปลูกของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งเป็นดาวเทียมของต่างประเทศและมีราคาข้อมูลค่อนข้างสูง ซึ่งในอนาคตจะได้นำประโยชน์ของดาวเทียม THEOS ของไทยมาใช้ในการสำรวจเนื้อที่เพาะปลูก พยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญได้ต่อไป

ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS นับเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี มีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม บันทึกข้อมูลโดยพลังงานจากดวงอาทิตย์ โดยมีวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun-synchronous) โคจรสูงจากพื้นโลก 822 กิโลเมตร บันทึกข้อมูลในเวลา 10.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีระยะเวลาในการโคจรรอบโลก 101.46 นาทีต่อรอบ ถูกออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี มีกล้องบันทึกข้อมูลแบบภาพขาวดำรายละเอียดสูง (Panchromatic telescope) มีรายละเอียดภาพ (Resolution) 2 เมตร ความกว้างแนวบันทึกภาพ (Swath width) 22 กิโลเมตร และกล้องบันทึกภาพสี (Multispectral camera) มีรายละเอียดภาพ 15 เมตร ความกว้างแนวบันทึกภาพ 90 กิโลเมตร อีกทั้งสามารถปรับเอียงเพื่อถ่ายภาพซ้ำตรงตำแหน่งเดิมได้ทุก 1 — 5 วัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ