1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 (สิ้นสุดการรับจำนำ 31 ต.ค.51)
2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52
คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ได้มีมติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี2551/2552 ตามมติ กขช. วันที่ 8 กันยายน 2551 ที่กำหนดเป้าหมายจำนำ 8 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ปรับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี2551/2552 ใหม่ให้เหมาะสมกับตลาดเพื่อให้ธุรกิจการค้าข้าวในตลาดสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงมาก โดยกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือก ณ ความชื้น 15% ดังนี้
- ราคารับจำ
- ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ชนิด 42 กรัม ราคาจำนำตันละ 15,000 บาท
ชนิด 40 กรัม ราคาจำนำตันละ 14,800 บาท
ชนิด 38 กรัม ราคาจำนำตันละ 14,600 บาท
ต่ำสุดชนิด 36 กรัม ราคาจำนำตันละ 14,400 บาท - ข้าวเปลือกเจ้า 100% (ชนิดที่เป็นข้าวสาร 100%) ราคาจำนำตันละ 12,000 บาท
- ข้าวเปลือกเจ้า 5% (ชนิดที่เป็นข้าวสาร 5%) ราคาจำนำตันละ 11,800 บาท
- ข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาว ราคาจำนำตันละ 10,000 บาท - ข้าวเปลือกเหนียว 10 % ชนิดคละ ราคาจำนำตันละ 9,000 บาท
- ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ชนิด 42 กรัม ราคาจำนำตันละ 13,000 บาท
หากจำนำยุ้งฉางจะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีกตันละ 1,000 บาท
- ระยะเวลารับจำนำ ให้เริ่มรับจำนำวันที่ 1 พฤศจิกายน — 28 กุมภาพันธ์ 2552 ยกเว้นภาคใต้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 28 พฤษภาคม 2552 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
- ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำทั้งจำนำใบประทวน และจำนำยุ้งฉาง
- ผลการรับจำนำ อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูล
ภาวะการซื้อขาย ในสัปดาห์นี้ราคาข้าวในตลาดส่วนใหญ่สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจาก ผู้ส่งออกบางส่วนมีความต้องการข้าวเพื่อส่งออก เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อ Lot ใหญ่ๆ เข้ามาบ้างแล้ว จึงออกมารับซื้อในราคาที่สูงขึ้น ส่วนราคาข้าวหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้ลดลงนั้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เกษตรกรใช้รถเกี่ยวนวดข้าวมีความชื้นสูง ประกอบกับข้าวบางส่วนถูกน้ำท่วมทำให้คุณภาพต้นข้าวลดลง
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 7 พฤศจิกายน 2551 ไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 9.101 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 7.537 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.75 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,697 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,095 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.04
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,996 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,579 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.35
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 5,925 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 5,864 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.05
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง) ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,896 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,473 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.47
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,530 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 17,150 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.22
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 2 (เก่า) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 812 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,252 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 780 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,101 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.10 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,151 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,110 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 576 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,013 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 97 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 465 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,179 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 23 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 590 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,528 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 573 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,909 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.97 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 619 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7926
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 อินเดียส่งออกข้าวที่มิใช่บาสมาติ 25,000 ตัน
อินเดียได้มีการผ่อนปรนมาตรการห้ามการส่งออกข้าวที่มิใช่บาสมาติโดยการอนุญาตให้บริษัทส่งออกข้าว 2 บริษัทส่งออกข้าว 100 % ที่มิใช่บาสมาติ บริษัทละ 12,500 ตัน ในราคาส่งออกขั้นต่ำ (Minimum Export Price : MEP) ประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือ 50,000 รูเปียต่อตัน ซึ่งการส่งออกดังกล่าวได้รับการอนุญาตในช่วงฤดูกาลตลาดคาร์รีฟ 2551-52 (Kharif Marketing Season 2008-09) ซึ่งจะอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม 2551 — กันยายน 2552
2.2 จีนเสนอส่วนลดในการส่งออกธัญพืช
รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาถึงมาตรการในการให้ส่วนลดการส่งออกธัญพืชซึ่งจะช่วยระบายข้าวสาลี ข้าวและข้าวโพดที่ล้นตลาดขณะนี้ ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ตระหนักว่าการยกเลิกภาษีการส่งออกธัญพืชและแป้งที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมาและจะมีผลในวันที่ 1 ธันวาคมที่จะถึงนี้อาจจะไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นการส่งออกได้ เนื่องจากราคาข้าวสาลีและข้าวโพดในตลาดโลกถูกกว่าประเทศจีน โดยราคาข้าวสาลีและข้าวโพดของสหรัฐอเมริกาถูกกว่าประเทศจีนถึงร้อยละ 30 ทำให้รัฐบาลจีนพิจารณาถึงการให้ส่วนลดการส่งออกเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกธัญพืช
อนึ่ง การที่ผลผลิตธัญพืชของประเทศจีนมีมากจนล้นตลาดนั้นเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมานั้น รัฐบาลจีนได้เพิ่มภาษีการส่งออกและลดการอุดหนุนการส่งออกธัญพืช โดยหันมากระตุ้นการผลิตธัญพืชภายในประเทศเนื่องจากเกิดความกังวลถึงวิกฤติอาหารโลกที่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าภายในประเทศและผู้บริโภคได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วผลผลิตข้าวสาลี ข้าวและข้าวโพดของประเทศจีนนั้นเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลและฝ้ายของจีนก็มีราคาถูกลงหลังจากที่ผลผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นประกอบกับวิกฤติการเงินโลกทำให้ความต้องการอาหารสำเร็จรูปและสิ่งทอนั้นลดลง ซึ่งหากเศรษฐกิจยังคงเลวร้ายอย่างนี้อีกจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรนั้นลดลงต่อไปอีกในอนาคต
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2551--