1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
เตือนผู้เลี้ยงปลาระวังโรคระบาด
นายสมเกียรติ พิบูลย์ผล ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ ออกมาแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั้งในเชิงพาณิชย์และเพื่อบริโภคที่มีอยู่ในจังหวัดกว่า 12,900 ราย ว่า ขอให้หมั่นดูแลรักษาสุขภาพปลาทั้งที่เลี้ยงในกระชังและบ่อดิน เนื่องจากช่วงนี้อากาศหนาวเย็น ปลาจะกินอาหารน้อยและสุขภาพอ่อนแอ ทำให้เอื้อต่อการเกิดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะปลาที่เป็นแผลตามลำตัวที่เกิดจากแบคทีเรีย ทั้งนี้หากเกษตรกรรายใดพบปลาในบ่อตายหรือมีบาดแผลตามลำตัว ขอให้รีบตักออกจากบ่อแล้วนำไปทำลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคขยายลุกลามไปยังปลาตัวอื่น แต่หากพบมีการแพร่ระบาดผิดปกติ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอหรือจังหวัดทันที เพราะในหลายพื้นที่เกษตรกรได้รับความเสียหายมาแล้ว
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 - 29 ต.ค. 2551) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 910.42 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 604.88 ตัน สัตว์น้ำจืด 305.54 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.87 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.63 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 105.35 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 19.45 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 70.09 ตัน
การตลาด
แคนาดาเชื่อมั่นมาตรฐานการตรวจสอบสัตว์น้ำของไทย
ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมงเผยว่า คณะเจ้าหน้าที่กรมประมงได้เดินทางไปยังประเทศแคนนาดา เพื่อประชุมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการนำเข้าสินค้าอาหารตามความตกลงหรือ MRA (Mutual Recognition Agreement) ด้านตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำระหว่างกรมประมงและ CFIA ซึ่งได้จัดทำความตกลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2540 โดยกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันทุก 2 ปี โดยการประชุมครั้งนี้ ทางหน่วยงาน CFIA ของแคนาดาแจ้งว่า จะลดอัตราการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำที่นำเข้าจากทุกประเทศเหลือเพียงร้อยละ 5 เท่ากัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 และCFIA จะเริ่มสุ่มตรวจสารเคมีและสารปฏิชีวนะต้องห้ามในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้าเพิ่มเติมจากรายการเดิมที่เคยตรวจวิเคราะห์อยู่อีก 3 ชนิด ได้แก่ Fluoroquinolones, Erythromycin และ Gentian Violet ทั้งนี้ ผู้เพาะเลี้ยงและ แปรรูปสัตว์น้ำควรเพิ่มความระมัดระวังด้านการใช้สารเคมี รวมไปถึงการตกค้างหรือปนเปื้อนของสารต้องห้ามเหล่านี้ในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่จะส่งออกไปยังแคนาดาด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า และทำให้อุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทยก้าวไกลและยั่งยืนตลอดไป
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.07บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 37.82 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.75 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.66 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 58.97 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.69 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงาน
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 105.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 108.91 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.91 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.83 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 121.43 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.95 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 10.37 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.42 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60%(ระหว่างวันที่ 15-21 พ.ย.2551)เฉลี่ยกิโลกรัมละ 25.90 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2551--