รัฐเดินหน้า ดำเนินมาตรการช่วยดึงราคาหัวมันสด

ข่าวทั่วไป Thursday December 11, 2008 13:26 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดผลผลิตมันสำปะหลังปีนี้ ทำสถิตินิวไฮท์สูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ภาครัฐต้องเร่งเข้าแทรกแซงตลาด พยุงสถานการณ์ราคาหัวมันสดที่ตกต่ำในช่วง 1 — 2 เดือนนี้ เพื่อช่วยยกระดับราคาหัวมันสดในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก แนะระยะยาวต้องเร่งผลักดันการใช้เพื่อผลิตเอทานอล ตามเป้าหมายที่กำหนดพร้อมทั้งลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ทิศทางราคาธัญพืชและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาและสภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่เกิดจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ว่ากระทบต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในภาคอุตสาหกรรม ประเทศคู่ค้าของไทยหันไปใช้ผลผลิตในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกในปี 2551 ชะลอตัว ประกอบกับเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทำให้มีผลผลิตมากถึง 29.15 ล้านตัน เพิ่มสูงจากปีก่อนร้อยละ 15.89 ขณะที่ผลผลิตฤดูใหม่กำลังทยอยออกสู่ตลาด ทำให้ราคาหัวมันสดที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จากต้นปี 2551 ที่ราคากิโลกรัมละ 2 บาท เหลือเพียง 1.40 บาท ในเดือนตุลาคม และ 1.27 บาท ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

คณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ให้ดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ด้วยวิธีการรับจำนำ โดยกำหนดราคาหัวมันสด เชื้อแป้ง 25 % ที่กิโลกรัมละ 1.80 บาท ในเดือนพฤศจิกายน 2551 และเพิ่มขึ้นเดือนละ 0.50 บาท แบบขั้นบันได จะสิ้นสุดที่เดือนเมษายน 2552 อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.05 บาท ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยเร็ว ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในทุกพื้นที่

สำหรับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นประกอบกับสภาพเศรษฐกิจถดถอยและความต้องการใช้ลดลง คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิตส่วนเกินมากถึง 2 ล้านตันหัวมันสด ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ตามยุทธศาสตร์ รวมถึงการแก้กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับเอทานอลให้เหมาะสมเพื่อปลดล็อคการผลิตเอทานอลในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตอ้อยและมันสำปะหลังเพื่อพลังงานทดแทนโดยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น รวมทั้งดำเนินโครงการนำร่องในนิคมการเกษตร ซึ่งเป็นการจัดพื้นที่การผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานให้เหมาะสม เพิ่มศักยภาพการผลิตลากรตลาด แต่ทั้งนี้จำป็นต้องกระตุ้นการใช้แก๊สโซฮอล์ในประเทศตลอดจนส่งเสริมการส่งออกเอทานอลเพื่อเพิ่มประมาณความต้องการ และในระยะยาวควรให้การค้าเอทานอลเป็นไปอย่างเสรีรวมถึงการวิจัยและพัฒนาการใช้พืชที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เซลลูโลสจากพืช แทนการใช้พืชอาหาร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต นายมณฑล กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ