กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

ข่าวทั่วไป Thursday December 11, 2008 13:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ไทย ผสานความร่วมมืออินโดนีเซีย และมาเลเซีย ลดปริมาณการผลิตยางพารา เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และให้สอดคล้องกับความต้องการที่ชะลอตัวลงในปัจจุบัน เผยบริษัทร่วมทุน 3 ประเทศเห็นพ้องแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเป้าหมายปลูกยางใหม่ทดแทนยางเก่าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 51

นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ลดลงในขณะนี้ เป็นผลจากปัจจัยหลายด้าน กล่าวคือ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินในสหรัฐอเมริกา การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก การซบเซาของตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับโน้มตัวลดลง รวมถึงผลผกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และความต้องการใช้ยางพารา

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อและรับมอบยางพารา เนื่องจากผู้ซื้อคาดว่าราคายางพาราอาจโน้มตัวต่ำลง ประกอบกับค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ทำให้ราคายางพาราซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TOCOM ของญี่ปุ่นโน้มตัวลดลง เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการมาตรการแก้ไขปัญหาโดยชะลอการกรีดยาง ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการที่ชะลอตัวในขณะนี้

สำหรับปี 2552 นี้ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่การปลูกทดแทนยางเก่าด้วยยางพาราและไม้ผลยืนต้น จากสองแสนไร่ เป็นสี่แสนไร่ และชะลอการขยายพื้นที่ปลูกยางใหม่ นอกจากนี้ในการประชุมหารือของบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีความเห็นร่วมกันในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยเน้นการจัดการด้านปริมาณผลผลิต คือ กำหนดเป้าหมายการปลูกยางใหม่ ทดแทนยางเก่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากเดิมเจ็ดแสนไร่ เป็น 1,056,250 ไร่เพื่อลดปริมาณผลผลิตยางพาราลง 215,000 ตัน รวมทั้งชะลอการปลูกยางใหม่โดยการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกยางพารา นายมณฑล กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ