สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการวิจัยเศรษฐกิจการผลิตและการตลาดสุกร พบผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กลดลงมาก ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่มีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผ่านสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถทำธุรกิจได้ครบวงจรมากขึ้น
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลงานวิจัย เรื่อง เศรษฐกิจการผลิตและการตลาดสุกร จากการสำรวจผู้เลี้ยงสุกร ผู้ค้า ผู้ประกอบการโรงฆ่าสุกร และสหกรณ์ สมาคมหรือชมรมผู้เลี้ยงสุกรกว่า 300 รายทั่วประเทศ พบว่า การเลี้ยงสุกรเป็นไปอย่างเสรี จึงมีการขยายตัวและหดตัวลงเร็ว ทำให้เกิดปัญหาวัฏจักรสุกร และจากการที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดปัญหาราคาสุกรตกต่ำเป็นเวลานานผู้เลี้ยงที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนต้องเลิกกิจการไป สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กมีการผลิตลดลงถึงร้อยละ 40-70 ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่มีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้น
สำหรับผู้เลี้ยงสุกรแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้เลี้ยงอิสระ และผู้เลี้ยงแบบมีสัญญาผูกพันทั้งแบบรับจ้างเลี้ยงและแบบประกันราคา จากการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต ปรากฏว่า มีต้นทุนการผลิตลูกสุกรตัวละ 1,501.42 บาท ต้นทุนการผลิตสุกรขุนกิโลกรัมละ 52.92 บาท ต้นทุนการรับจ้างเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกสุกร 239.98 บาทต่อลูกสุกร 1 ตัว และต้นทุนการรับจ้างเลี้ยงสุกรขุนตัวละ 260.24 บาท ด้านโครงสร้างตลาดสุกรฟาร์มขนาดใหญ่เกือบครบวงจรหรือครบวงจรมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 70 เป็นฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลางร้อยละ 20-25 และ ผู้เลี้ยงรายย่อยร้อยละ 5 โรงฆ่าสุกรส่วนใหญ่เป็นของเทศบาล และ อบต. ซึ่งมีการลงทุนเพื่อให้ได้มาตรฐานสุขอนามัยมากขึ้น
ด้านส่วนเหลื่อมหรือต้นทุนการตลาดแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้ค้าปลีกสุกรชำแหละซื้อสุกรมีชีวิตจากฟาร์มโดยตรง และกรณีผู้ค้าปลีกซื้อสุกรชำแหละจากผู้ค้าส่ง มีส่วนเหลื่อมการตลาดร้อยละ 26-27 ของราคาขายปลีก และผู้ค้าปลีกมีกำไรร้อยละ 6-8 ของราคาขายปลีก การที่กำไรของผู้ค้าปลีกค่อนข้างต่ำเนื่องจากในช่วงที่เก็บข้อมูลเป็นช่วงที่สุกรขาดแคลนและมีราคาแพง ผู้ค้าซื้อสุกรจากฟาร์มในราคาที่สูงขึ้นมาก แต่ไม่สามารถปรับราคาขายปลีกเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นได้มาก เนื่องจากเนื้อสุกรชำแหละเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ในทางตรงข้ามผู้ค้าจะมีกำไรสูงในช่วงที่สุกรมีราคาต่ำ เพราะผู้ค้าก็จะไม่ปรับลดราคาขายปลีกเนื้อสุกรลงมากเช่นกัน
นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กสามารถดำรงอยู่ได้ และป้องกันปัญหาการผูกขาด ภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือสนับสนุนสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถทำธุรกิจได้ครบวงจรมากขึ้น รวมถึงต้องขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรและบริหารจัดการปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาวัฏจักรสุกร
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--