1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ การผลิต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ ประมาณการผลิตข้าวนาปี ปี 2551/52 และข้าวนาปรัง ปี 2552 ประจำเดือนธันวาคม 2551 ภายหลังจากผลกระทบน้ำท่วมที่ผ่านมา ดังนี้ 1) ข้าวนาปี ปี 2551/52 คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูก 57.839 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 23.709 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 410 กิโลกรัม ทั้งพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิต ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่ 57.386 ล้านไร่ ผลผลิต 23.308 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 406 กิโลกรัม ในปี 2550/51 ที่ผ่านมาร้อยละ 0.79,1.72 และ 0.99 ตามลำดับ โดยพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวปี 2551 อยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับฝนมาเร็วและตกสม่ำเสมอทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก ส่วนผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาวะอากาศอำนวยรวมทั้งมีการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ดี และการใช้ปุ๋ยเคมีและชีวภาพ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากบางพื้นที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย จึงทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลงจาก 416 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ประมาณการในเดือน กันยายน 2551 จำนวน 6 กิโลกรัม 2) ข้าวนาปรัง ปี 2552 คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูก 11.772 ล้านไร่ ผลผลิต 7.756 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งพื้นที่ปลูกและผลผลิตลดลงจากพื้นที่ 12.801 ล้านไร่ ผลผลิต 8.791 ล้านตันข้าวเปลือก ของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.95 และ 11.78 ตามลำดับ สาเหตุที่พื้นที่ลดลงเนื่องจาก ปี 2552 การผลิตข้าวนาปี ปี 2551/52 เข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ทีการปลูกทดแทนข้าวนาปี ที่ถูกน้ำท่วมผลผลิตเสียหายเช่นปีที่ผ่านมา แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 687 เป็น 688 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2552 เนื่องจากราคาข้าวนาปี ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงรวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2551/52 ในเกณฑ์สูงนำตลาดจูงใจให้ และเกษตรกรมีการดูแลรักษา และใช้พันธุ์ดีมากขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากพอต่อการเพาะปลูก ภาวการณ์ซื้อขาย ในสัปดาห์นี้ตลาดค่อนข้างซบเซาราคายังคงอ่อนตัวลงจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากผลของการประมูลขายข้าวในคลังรัฐบาล ส่งผลให้ผู้ส่งออกส่วนใหญ่มีข้าวเพียงพอต่อการส่งมอบ จึงไม่ออกมารับซื้อข้าวในตลาด มีเพียงรายเล็กๆ เท่านั้นที่ออกมารับซื้อเท่าที่ต้องการส่งมอบ การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 30 พฤศจิกายน 2551 ไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 9.403 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 8.447 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.32 (ที่มา: กรมการค้าภายใน) 1.2 ราคา ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,249 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,599 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.78 ราคาข้าวเปลือกปทุมธานี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,613 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,554 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.62 ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,660 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,547 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.19 ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 6,628 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 6,543 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.29 ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง) ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,884 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,909 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,517 บาท ราคาลดลงจากตันละ 17,050 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.13 ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 2 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 807 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,411 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 801 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,314 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.75 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 97 บาท ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 717 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,243 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 712 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,168 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 75 บาท ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 559 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,680 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 569 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,113 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.76 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 433 บาท ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,737 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 459 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,225 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.61 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 488 บาท ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 586 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,631 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 582 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,572 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 59 บาท หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.2060
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 ราคาส่งออกข้าวเวียดนามมีแนวโน้มสูงขึ้น
กระทรวงเกษตรของเวียดนาม เปิดเผยในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เวียดนามได้ทำสัญญาส่งออกข้าว 5 %ในราคาเอฟ.โอ.บี. 460 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน(16,195บาท/ตัน) จำนวน 100,000 ตันกับประเทศมาเลเซีย และราคาเอฟ.โอ.บี. 500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน(17,603 บาท/ตัน) จำนวน 60,000 ตันกับประเทศอิรัก และ ณ วันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวรวมแล้วจำนวน 4.3 ล้านตัน โดยทางการเวียดนามคาดว่าปีนี้จะส่งออกข้าวได้ประมาณ 4.6 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาที่ส่งออกข้าวรวมทั้งหมดเพียง 4.5 ล้านตัน มูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ
ในปีนี้แม้ราคาข้าวเวียดนามจะลดลงโดยราคาส่งออกเอฟ. โอ. บี ข้าว 5% ได้ลดลงจาก 410 เหรียญสหรัฐต่อตัน (14,434 บาท/ตัน) เหลือ 370 เหรียญสหรัฐ ฯ ต่อตัน (13,026 บาท/ตัน) และข้าวเวียดนาม 25 % ราคาได้ลดลงจาก 370 เหรียญสหรัฐ ฯ ต่อตัน(13,026 บาท/ตัน) เหลือ 313 เหรียญสหรัฐ ฯ ต่อตัน(11,019 บาท/ตัน) ในช่วงปลายปี 2551 เนื่องมาจากอุปสงค์ข้าวลดลง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาข้าวกำลังจะดีขึ้นเนื่องจากราคาส่งออกข้าวในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มจะดีขึ้น เพราะ ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกคาดว่าในปีหน้าจะนำเข้าข้าวมากประมาณ 1.5 ล้านตันโดยมีแผนที่จะตกลงซื้อขายกับประเทศส่งออกข้าวในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และประเทศอิหร่านก็จะนำเข้ามากประมาณ 1.2 ล้านตัน เช่นกัน นอกจากนี้ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute : IRRI) ยังได้คาดการณ์ว่า ปีหน้าอุปสงค์ข้าวโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ตลาดค้าข้าวของโลกคึกคักและส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งในการประชุมประเทศผู้ผลิตข้าวแถบลุ่มแม่น้ำโขง (เวียดนาม ลาว และกัมพูชา) กับประเทศแถบแอฟริกาที่ผ่านมา พบว่าในหลาย ๆ ประเทศแถบแอฟริกาแสดงความสนใจที่จะนำเข้าข้าวเวียดนามแทนการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากข้าวเวียดนามมีราคาถูกกว่า โดยคาดว่าประเทศในทวีปอาฟริกาจะมีการนำเข้าข้าวเวียดนามสูงถึงร้อยละ 12 ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมด
2.2 นักวิทยาศาสตร์เวียดนามได้รับรางวัลวิจัยข้าว
สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute: IRRI) ได้มอบรางวัลธรรมวันสา ซีนาธิรา (Dharmawansa Senadhira Award) ให้กับศาสตราจารย์ดอกเตอร์บุย ชิ บู ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรภาคใต้ของประเทศเวียดนาม เนื่องจากได้ทุ่มเทเวลากว่า 2 ทศวรรษในการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่สามารถนำมาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สามารถเพาะปลูกในดินเค็มและมีความทนทานต่อศัตรูพืชสูง โดยได้นำไปเพาะปลูกแถบลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหลักของประเทศ
อนึ่ง รางวัลดังกล่าวได้มอบให้กับนักวิทยาศาสตร์รวมชาวเวียดนามแล้วถึง 3 คน โดย 2 คนแรก ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย ในปี 2547 และ นักวิทยาศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ในปี 2549
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8 - 14 ธันวาคม 2551--