1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
กบ คางคก พันธุ์นอกอาจเป็นพาหะนำโรคเชื้อราชิทริดมาระบาดในไทย
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าปัจจุบันคนไทยนิยมนำสัตว์ต่างประเทศ ชนิดแปลกๆ เข้ามาเลี้ยงจำนวนมาก ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าสัตว์ต่างถิ่นเหล่านั้นอาจนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่นำเข้ามาเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม เช่น กบสี กบลูกศรพิษ กบต้นไม้ คางคกหัวเขา ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีรายงานที่น่าสนใจว่ามีนักวิทยาศาสตร์ ได้พบโรคระบาดชนิดใหม่ในสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก คือ โรคเชื้อราชิทริด (Chytridiomycosis) ซึ่งเป็นสาเหตุการลดจำนวนลงอย่างมากของประชากรสัตว์ประเภทนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนเป็นที่คาดการณ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ของสัตว์ประเภทนี้ถึง 8 ชนิด ในทวีปออสเตรเลียและทวีปอเมริกากลาง และที่น่าตกใจและน่าเป็นห่วงไปกว่านั้น คือ ขณะนี้มีรายงานการตรวจพบโรคเชื้อราชิทริดในหลายพื้นที่ของโลก เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อาฟริกา และญี่ปุ่น สาเหตุเกิดจากการนำเข้าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากต่างถิ่นเข้าในประเทศ ซึ่งเชื้อราชิทริด เกิดจากเชื้อรา Batrachochytrium dendrobatidis จะเจริญเติบโตได้ดีในที่มีความชื้น อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 17—25 องศาเซลเซียส หากกบหรือคางคกได้รับเชื้อดังกล่าวจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ มีอาการทางประสาท มีรอยโรคบริเวณผิวหนัง เนื่องจากเชื้อราจะเข้าไปอยู่ที่ keratin ในชั้นผิวหนังของกบ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเชื้อราจะเข้าไปทำปฏิกิริยาที่ผิวหนังและสร้างสารพิษออกมา ทำให้ตายในเวลา 18—48 วัน ถ้าเป็นลูกอ๊อดหากได้รับเชื้อเข้าไป เชื้อราจะเข้าไปแฝงอยู่ในส่วน keratin ภายในปาก ไม่ทำให้ลูกอ๊อดตาย แต่ก็เป็นพาหะของโรคได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีควบคุมโรคดังกล่าวเมื่อเกิดการระบาดในป่าหรือธรรมชาติ
สำหรับในประเทศไทยมีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดพันธุ์จากต่างถิ่น จึงเป็นที่น่ากังวลใจว่าสัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้อาจเป็นพาหะนำโรคเชื้อราชิทริดเข้ามาระบาด ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในธรรมชาติบ้านเรา เนื่องจากมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้อต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของโรคชนิดนี้ และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกบเพื่อการบริโภคที่กำลังเติบโตและทำรายได้เข้าสู่ประเทศและเกษตรกรไทย อันจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินค่ามิได้แก่ทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้กำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าและได้เตรียมความพร้อมในการป้องกัน รวมทั้งเร่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคดังกล่าว จึงได้มีการสำรวจติดตามและเฝ้าระวังการระบาดในประเทศด้วย
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 — 20 พ.ย. 2551) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 892.13 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 574.14 ตัน สัตว์น้ำจืด 317.99 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.86 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.57 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 111.12 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 6.17 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 56.44 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.52 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 37.44 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.08 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.08 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 60.76 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.32 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ112.86 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.86 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงาน
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 107.39 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 106.86 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.53 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 103.33 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 98.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 5.33 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.99 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 7.92 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.07 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60%(ระหว่างวันที่ 5—12 ธ.ค.2551) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 25.10 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8 - 14 ธันวาคม 2551--