สศก.ชู ไทยครองแชมป์โลก ส่งออกสับปะรดกระป๋อง

ข่าวทั่วไป Monday December 22, 2008 13:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยัน ศักยภาพส่งออกสับปะรดกระป๋องไทย เป็นอันดับ 1 ของโลก สร้างรายได้ปีละ 13,000 ล้านบาท ด้านปัญหา ยังพบการขาดแรงงาน และมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า แนะ เกษตรกรและโรงงานวางแผนการผลิตร่วมแบบ Contract Farming และพัฒนาโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สับปะรดกระป๋องนับเป็นอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงภาคการผลิตด้านการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 45 - 50

จากการศึกษาตำแหน่งทางการตลาด ของ สศก. ทั้งด้านส่วนแบ่งและอัตราการเจริญเติบโตแบบวิธี BCG (Boston Consulting Group) พบว่า สับปะรดกระป๋องของไทยจัดเป็นสินค้าดาวรุ่ง (Star) เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออก และส่วนแบ่งการตลาดสูง ในขณะที่ประเทศคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จัดเป็นสินค้าที่เป็นปัญหา (Dogs) กล่าวคือ มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องของไทยประสบกับปัญหาด้านการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบ คือ สับปะรดสด และกระป๋องบรรจุมีราคาสูง การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ การตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาใช้ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti Dumping) กับสับปะรดไทย

โดยภาพรวม ไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกสับปะรดกระป๋อง โดยเกษตรกรและโรงงานแปรรูปควรวางแผนการผลิตร่วมกัน และทำสัญญาซื้อขายแบบมีข้อตกลง (Contract Farming) ซึ่งทาง สศก. จะเร่งหามาตรการพัฒนาการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะรณรงค์ สนับสนุนให้เกษตรกรทำการผลิตตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice : GAP) เพื่อให้ได้สับปะรดที่มีคุณภาพ และป้อนโรงงานแปรรูปอย่างสม่ำเสมอ นายอภิชาต กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ