สศก. แนะ สร้างจุดขายผลิตภัณฑ์ ผลักดันวิสาหกิจชุมชน

ข่าวทั่วไป Monday December 22, 2008 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลการศึกษาวิสาหกิจชุมชนปุ๋ยชีวภาพ พบยังขาดการรับรองมาตรฐานสินค้าและอุปสรรคทางการแข่งขันกับปุ๋ยเคมี เตรียมเร่งพัฒนาวางแผน สร้างผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นแบบมีจุดขาย ยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มรายได้และเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลการศึกษาการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน กรณีปุ๋ยชีวภาพ ซึ่ง สศก. ได้ทำการศึกษาวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินกิจกรรมผลิตปุ๋ยชีวภาพจำนวน 83 กลุ่มทั่วประเทศ พบว่า ในด้านการผลิต ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่เป็นหลัก คือ มูลสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นของสมาชิกเอง มีการใช้แรงงานจากสมาชิกกลุ่ม ส่วนเงินทุนส่วนใหญ่ได้มาจากค่าหุ้นของสมาชิก ด้านปริมาณการผลิตปุ๋ยชีวภาพได้จำแนกเป็นปุ๋ยอัดเม็ด ปุ๋ยผงและปุ๋ยน้ำโดยทำการผลิตปุ๋ยผง 16.65 ตัน/ปี/กลุ่มปุ๋ยอัดเม็ด 9.23 ตัน/ปี/กลุ่ม และปุ๋ยน้ำ 778.68 ลิตร/ปี/กลุ่ม สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มนั้น ปรากฏว่ามีกำไรในการผลิตปุ๋ยทุกประเภท โดย มีต้นทุนผันแปรปุ๋ยชนิดผง เฉลี่ยตันละ 1,423.74 ชนิดเม็ดเฉลี่ยตันละ 3,295.75 บาท และชนิดน้ำเฉลี่ยลิตรละ11.47 บาท มีรายได้เหนือต้นทุนรวมผันแปรชนิดผง 1146.26 บาท/ลิตร ชนิดเม็ด 2764.25 บาท/ลิตร และชนิดน้ำ8.38 บาท/ลิตร สำหรับด้านการตลาด จำหน่ายในชุมชนเป็นส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ส่วนที่เหลือจำหน่ายนอกชุมชน ทั้งในรูปเงินสดและเงินเชื่อ มีการส่งเสริมการตลาด โดยใช้ ป้ายประชาสัมพันธ์ วิทยุชุมชน สมาชิกและผู้ใช้ปุ๋ยบอกต่อกัน

จากการวิเคราะห์แบบ SWOT พบว่า จุดแข็งที่สำคัญ คือ ความได้เปรียบด้านวัตถุดิบและภาวะความเป็นผู้นำของกลุ่ม จุดอ่อน คือ การดำเนินงานด้านตลาดน้อย โอกาส คือ กระแสนิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ส่วนอุปสรรคที่สำคัญ คือ คู่แข่งมีมาก โดยเฉพาะผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีในพื้นที่ และ ขาดการรับรองมาตรฐานสินค้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิสาหกิจชุมชนนับว่ามีศักยภาพอยู่ในระดับปานกลาง โดย กระบวนการผลิต นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการจัดการ และความพึงพอใจของลูกค้าเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการทำกำไร

นายมณฑล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ควรเน้นการพัฒนาความสามารถในการจัดการ พัฒนากระบวนการผลิต และการสร้างความพึงพอใจของลูกค้า รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น โดย สศก. จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาสถานที่ในการจำหน่วยสินค้า รวมถึงการวางแผนดำเนินงานอย่างเป็นระบบ พัฒนารูปแบบและความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้ต่างจากผู้ผลิตรายอื่น ช่วยสร้างจุดขายของสินค้า เพื่อมิให้เกิดการแข่งขันที่อาจนำไปสู่ความล้มเหลวของวิสาหกิจ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ