1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
การเพิ่มศักยภาพการผลิตปลานิลเพื่อการส่งออก
ดร. จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่มีผู้เพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเลี้ยงง่าย ปัญหาโรคระบาดน้อย และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะมีรสชาติอร่อย ราคาถูก และซื้อหาได้ง่าย จึงถือว่าเป็นปลาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะสามารถนำรายได้เข้าประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท อันเนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตและการส่งออกปลานิลค่อนข้างสูง เพราะจากหลายปัจจัย ทั้งศักยภาพในการเพาะเลี้ยงปลานิลของเกษตรกร มีพื้นที่และแหล่งน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยง มีเทคโนโลยีการแปรรูปที่ทันสมัยและมีระบบการควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงผู้บริโภคที่ได้มาตรฐาน ทำให้ประเทศผู้นำเข้าให้ความไว้วางใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ปลานิลไทย ประเทศไทยสามารถส่งออกปลานิลไปยังตลาดการค้าที่สำคัญทั่วโลก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และในภูมิภาคเอเชีย ทั้งแบบมีชีวิต ปลานิลสด ปลานิลทั้งตัวแช่แข็ง ปลานิลแล่เนื้อแช่แข็ง ซึ่งมีแนวโน้มการส่งออกของไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดูจากปี 2550 มีปริมาณการส่งออก 12,736 ตัน มูลค่า 669.20 ล้านบาท ปี 2551(ม.ค.- ก.ย.) ปริมาณส่งออก 14,990 ตัน มูลค่า 860.40 ล้านบาท
คณะกรรมการบริหารสินค้าปลานิลและผลิภัณฑ์ ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้แทนกรมประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล ผู้แทนโรงงานผลิตอาหารปลา ผู้แทนโรงงานแปรรูปปลานิล จึงได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตปลานิลและผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก โดยมีประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการ คือ การเพิ่มปริมาณและควบคุมผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลของไทย ยังขาดความมั่นใจในการเพิ่มปริมาณการผลิต เนื่องจากการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับทราบข้อมูลจากผู้แปรรูปโดยตรง ประกอบกับเกษตรกรยังไม่มีการรวมกลุ่มกัน จึงทำให้ขาดอำนาจในการต่อรองกับผู้แปรรูป ซึ่งหากนำแนวทางการพัฒนาระบบการซื้อขายตรงระหว่างเกษตรกรในการเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตและสามารถวางแผนการผลิตให้มีปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้แปรรูป ทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาดและสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เป็นธรรม
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(28 พย.-4 ธค.2551)สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 916.00 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 533.42 ตัน สัตว์น้ำจืด 382.58 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.74 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.60 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 97.80 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 8.58 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 62.43 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.17 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.11 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.06 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.41 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 60.27 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.14 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงาน
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.24 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 109.15 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.09 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 115.83 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 114.17 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.66 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 121.43 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.43 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.99 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 7.94 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.05 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60%(ระหว่างวันที่ 20—26 ธ.ค.2551)เฉลี่ยกิโลกรัมละ 29.53 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 25.81 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.72 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2551--