สศก. คาด ส่งออกเอทานอลไทยทิศทางสวยในตลาดโลก

ข่าวทั่วไป Friday January 9, 2009 14:23 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ที่ประชุม ISO คาดการณ์ 1-2 ปีข้างหน้า ผลผลิตน้ำตาลโลกขาดดุลมากกว่า 3 ล้านตัน ส่งผลราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการเอทานอลของโลกเพิ่มมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีของไทยเร่งพัฒนาศักยภาพตลาดอ้อยและมันฯ ในการส่งออก

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะมนตรีองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) ครั้งที่ 34 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่า ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ผลผลิตน้ำตาลโลกจะขาดดุลต่อเนื่องมากกว่า 3 ล้านตัน ทำให้แนวโน้มราคาน้ำตาลมีทิศทางสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้เอทานอลของโลกเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีของอ้อยและมันสำปะหลังของไทย และจำเป็นต้องเร่งบริหารจัดการระบบการผลิตและการตลาดอ้อย มันสำปะหลังและเอทานอล อย่างเป็นรูปธรรม

โดยในการประชุม ISO ได้มีการรายงานว่า ภายในปี 2558 ความต้องการใช้เอทานอลโลกจะมีปริมาณ 130-150 พันล้านลิตร ขยายตัวปีละ 10-12% และมีการค้า 22 - 25 พันล้านลิตร ขยายตัวปีละ 25% โดยบราซิลยังเป็นผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้หันมาให้ความสำคัญกับน้ำตาลเพื่อพลังงาน โดยจะใช้น้ำตาลส่วนเกินไปผลิตเอทานอล ส่วนสหภาพยุโรปจะจำกัดการผลิตน้ำตาลโดยลดปริมาณการผลิตลง 6 ล้านตัน ผลผลิตเหลือเพียง 13.2 ล้านตัน ขณะที่มีความต้องการใช้มากกว่า 17 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้สหภาพยุโรปกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลก จึงคาดว่าราคาน้ำตาลและเอทานอลในอนาคตยังมีทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเงินบราซิล รวมถึงค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลงทำให้บราซิลสามารถส่งน้ำตาลเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไทยได้มากขึ้น ประกอบกับองค์กรเอกชนของประเทศที่พัฒนาแล้วได้เสนอให้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ที่อาจกลายเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่อการค้าน้ำตาลและพลังงานทดแทนในอนาคตได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 3 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก โดยผลผลิตน้ำตาลโลกจะขาดดุลต่อเนื่อง จึงคาดว่าราคามีทิศทางที่ดี แต่ยังมีปัจจัยลบที่อาจส่งผลให้เกิดการผลิกผันได้ คือ วิกฤตเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ราคาสินค้าเกษตรและค่าขนส่งปรับตัวลดลง สำหรับด้านพลังงานทดแทนในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือใช้เอทานอลผสมน้ำมันเบนซินในอัตรา 10%และขยายเพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยอาศัยมาตรการส่วนต่างของราคาเป็นแรงจูงใจในการเลือกใช้น้ำมันผสมเอทานอล หรือแก๊สโซฮอล์แทนเบนซิน ส่งผลให้มีผู้ประกอบการยื่นขอก่อตั้งโรงงานเอทานอลจำนวนมาก อย่างไรก็ตามไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการทั้งความผันผวนของราคาน้ำมัน การกำหนดราคาเอทานอล ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเอทานอลและสุราทำให้ภาครัฐเข้มงวดในการจำหน่าย การสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกเอทานอล ตลอดจนความผันผวนของวัตถุดิบเกษตร ส่งผลให้การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง และอ้อยชะงักเป็นช่วงๆ มีการผลิตโดยใช้เฉพาะกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบและผลิตจากมันสำปะหลังได้ในระยะเวลาสั้นๆ

ดังนั้น ไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ประเทศหนึ่งของโลก รวมถึงมีศักยภาพในการส่งออกพลังงานทดแทน ต้องร่วมกันเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ปรับระบบการจัดการด้านการผลิตและการตลาดอย่างเป็นะบบและรูปธรรม รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือแสดงบทบาทในฐานะผู้ผลิต ผู้ค้า ในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการผลิตและการค้าในอนาคต นางนารีณัฐกล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ