ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Tuesday January 13, 2009 13:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52

ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 1 พ.ย. 51 - 10 ม.ค. 51 ปริมาณข้าวเปลือกรับจำนำ 3,223,627 ตัน คิดเป็นร้อยละ 40.42 ของเป้าหมายที่รับจำนำ แบ่งเป็น

          -  ข้าวหอมมะลิ                         526,466   ตัน
          -  ข้าวหอมจังหวัด                       153,883   ตัน
          -  ข้าวเจ้า                          2,119,812   ตัน
          -  ข้าวปทุมธานี                         322,418   ตัน
          -  ข้าวเหนียว                          111,048   ตัน

ที่มา : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

ภาวการณ์ซื้อขาย ในสัปดาห์นี้ราคาขยับสูงขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ยกเว้นข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกข้าว 5% เนื่องจากความต้องการของตลาดมีไม่มากเพราะราคาส่งออกค่อนข้างสูง แต่อำนาจซื้อของผู้นำเข้ามีน้อย การนำเข้าจึงหันไปนำเข้าข้าวที่มีราคาต่ำแทน เช่นข้าวปทุมธานี 1 และข้าว 25% ส่วนข้าวเหนียวนั้น ขณะนี้ใกล้จะเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตในตลาดมีน้อย และผลผลิตข้าวเหนียวปี 2551/52 ผลิตลดลงจากปีที่ผ่านมา ประกับกับผลผลิตข้าวส่วนหนึ่งเกษตรกรได้เข้าร่วมอยู่ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/52

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 31 ธันวาคม 2551 ไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 10.016 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 9.557 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.80 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.2 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,824 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,987 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.36

ราคาข้าวเปลือกปทุมธานี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,700 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,603 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.01

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,697 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,762 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อย 0.66

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 6,884 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 6,556 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.01

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง) ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,924 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,836 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,200 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,910 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.72

ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 2 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 839 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,118 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 822 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,248 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.07 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 870 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 733 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,439 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 730 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,087 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.41 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 352 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 560 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,435 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 569 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,554 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.58 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 119 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 457 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,861 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 456 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,671 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 190 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 617 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,413 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 612 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,031 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.82 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 382 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7057

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 อินโดนีเซียงดการนำเข้าข้าวในปี 2552 รองประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่าในปีนี้อินโดนีเซียจะไม่มีการนำเข้าข้าว เนื่องจากผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียนั้นมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและยังคงมีข้าวส่วนเกินอีก 2 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลผลิตส่วนเกินจากทางตอนใต้ของสุลาเวสีและบางจังหวัดในเขตชวา ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้มีโครงการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ชาวนาอย่างต่อเนื่องปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่อินโดนีเซียมีผลผลิตส่วนเกินนอกเหนือจากปีแรก คือ ในปี 2525 หลังจากที่ผลผลิตข้าวของประเทศได้ลดลงยาวนานถึง 50 ปี นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวในทุก ๆ ปีจากนี้ไปเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ

2.2 ฝนตกหนักข้าวเวียดนามเสียหาย กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามได้เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในช่วงหลายวันที่ผ่านมาสร้างความเสียหายแก่ข้าวของเวียดนาม โดยในขณะนี้ข้าวที่กำลังเพาะปลูกทั้งประเทศของเวียดนามจมน้ำแล้วประมาณ 13,449 เฮกแตร์ หรือ 84,056 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับความเสียหายไปแล้วถึง 7,612 เฮกแตร์ หรือ 47,575 ไร่ และจะต้องทำการเพาะปลูกใหม่ประมาณ 5,592 เฮกแตร์ หรือ 34,950 ไร่ อนึ่ง จังหวัดอังเกียงนาข้าวจมน้ำไปประมาณ 2,500 เฮกแตร์ หรือ 15,625 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 1,200 เฮกแตร์ หรือ 7,500 ไร่ จะต้องทำการเพาะปลูกใหม่ ส่วนในจังหวัดลองอันนาข้าวจมน้ำแล้วประมาณ 600 เฮกแตร์ หรือ 3,750 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 120 เฮกแตร์ หรือ 750 ไร่ จะต้องทำการเพาะปลูกข้าวใหม่

2.3 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติวางแผนเพิ่มผลผลิตข้าว สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute : IRRI) ที่ตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ได้เปิดเผย โครงการระยะ 10 ปีเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวในทวีปเอเชียใต้และเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิของมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน (บิลและเมลินดา เกตส์) และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้อย่างน้อย 350 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีให้แก่ประชากรที่ยากจนจำนวน 6 ล้านคน ในประเทศบังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถานและเนปาล โดยโครงการนี้จะทำการปรับปรุงเทคโนโลยีที่จะทำให้ผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวสูญเสียน้อยลง รวมทั้งจะมีการพัฒนาทักษะของชาวนาและการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าชาวนาประมาณ 4 ล้านคนจะประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตอย่างน้อย 500 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 6.25 ไร่

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5-11 มกราคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ