สศก.ลงพื้นที่ ศึกษาศักยภาพปลานิลไทยเพื่อรองรับตลาดโลก

ข่าวทั่วไป Friday January 23, 2009 13:46 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลการศึกษา เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตการตลาดของปลานิล สอดรับความต้องการปลานิลในตลาดโลกที่มีสูง ในขณะที่ความต้องการในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการส่งออก

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการปลานิลในตลาดโลกยังสูงมาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ขณะที่ความต้องการบริโภคปลานิลภายในประเทศก็ยังเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง ประกอบกับการส่งออกยังมีข้อจำกัดที่จะต้องไม่มีกลิ่นโคลน จึงจะเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ สศก. จึงได้ลงพื้นที่ทำการศึกษาศักยภาพการผลิตและการจลาดของปลานิล เพื่อหาช่องทางในการขยายตลาดให้มากขึ้นในอนาคต และเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

โดยผลการศึกษา พบว่า การเลี้ยงปลานิลของเกษตรกร มี 2 แบบ คือ การเลี้ยงปลานิลในกระชัง และการเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน โดยการเลี้ยงปลานิลในกระชังมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยกระชังละ 24,713 บาท ต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 33.64 บาท และมีกำไรกิโลกรัมละ 8.34 บาท สำหรับการเลี้ยงในบ่อดิน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 20,975 บาท ต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 26.11 บาท และมีกำไรกิโลกรัมละ 5.26 บาท

ด้านนางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและรองโฆษก สศก. เปิดเผยถึงการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค พบว่า จุดแข็ง คือ ปลานิลสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เลี้ยงง่าย และมีอัตราการเจริญเติบโตสูง ขยายพันธุ์ได้เร็ว พ่อแม่พันธ์ได้รับการพัฒนาและมีปริมาณเพียงพอ มีเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงที่ครบวงจร ตลอดจนมีระบบการเลี้ยงที่มีมาตรฐาน ด้านจุดอ่อน คือ มีต้นทุนการผลิตสูงโดยเฉพาะค่าอาหาร ปลาที่เลี้ยงในบ่อดินมีปัญหาเรื่องของกลิ่นโคลน ปลาที่ผลิตได้ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีน้อย ขาดการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในรูปของสหกรณ์ และขาดการจัดการที่ดีทำให้ปลาเกิดโรค อีกทั้งพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาและปริมาณการซื้อ ด้านโอกาส คือ มีตลาดรองรับกว้างขวางทั่วโลกทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และเอเชีย และสามารถส่งออกในลักษณะของปลาแล่เนื้อ มีคู่ค้าที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอิตาลี ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีน ผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะได้ส่วนแบ่งของตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสรรค สำคัญคือ คู่แข่ง โดยเฉพาะจีน ที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพการผลิตที่มากกว่า รวมถึงประเทศผู้ผลิตในแถบลาตินอเมริกา เช่น เอกวาดอร์ ซึ่งอยู่ใกล้ตลาดใหญ่ ทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้ได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่ง

ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งวิจัย ศึกษา และพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อลดปัญหาต้นทุนและกลิ่นโคลน ให้พันธุ์มีลักษณะดีตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ปรับปรุงระบบเพาะเลี้ยง พัฒนาตลาดในเชิงรุก พัฒนาระบบขนส่งเพื่อรองรับการกระจายสินค้า และการเก็บรักษาปลานิลภายหลังเก็บเกี่ยวรวมถึงแปรรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไปในอนาคต

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ