1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนการทำประมงไทยกับอินโดนีเซีย
นายธรรมรัต หวั่งหลี ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่าภายใต้นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ ได้เสนอต่อรัฐบาลนั้น การทำประมงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ พยายามเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำประมงน่านน้ำในอินโดนีเซีย ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างมาก เนื่องจากการที่อินโดนีเซียได้มีการประกาศใช้กฎระเบียบการทำประมงในน่านน้ำอินโดนีเซียฉบับใหม่ ซึ่งฝ่ายไทยโดยกรมประมงได้มีการหารือและประสานงานในในเรื่องดังกล่าวร่วมกับกรมประมงอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการทำประมงร่วมภายใต้กฎระเบียบใหม่ เพื่อให้การทำประมงร่วมระหว่างไทยกับอินโดนีเซียเป็นไปอย่างถูกต้อง เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ต้าได้เชิญอธิบดีจากกระทรวงกิจการทะเลและประมงของอินโดนีเซีย พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนของอินโดนีเซียมายังประเทศไทย เพื่อชี้แจงและอธิบายกฎระเบียบการทำประมงในน่านน้ำอินโดนีเซียที่ได้เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นกฎระเบียบเกี่ยวกับการธุรกิจประมงในอินโดนีเซีย การเปลี่ยนแปลงกฎหมายการจับปลาในอินโดนีเซียและในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย เช่น ใบขออนุญาตจับปลาและส่งเสริมการทำประมงแบบบูรณาการและเพิ่มมูลค่าสินค้าประมงส่งออก โดยที่ผ่านมาอินโดนีเซียก็ได้มีการหารือกับภาคเอกชนของไทยในจังหวัดสงขลา เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับกฎระเบียบดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามกฎระเบียบดังกล่าวเป็นกฎใหม่ซึ่งอาจมีอุปสรรคในการดำเนินการ ทางฝ่ายอินโดนีเซียก็พยายามเผยแพร่ข้อมูล รวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลและติดตามเรื่องนี้ ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม และจะรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างไทยกับอินโดนีเซียต่อไป
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(27ธ.ค.2551-2 ม.ค.2552)สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 647.92 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 493.74 ตัน สัตว์น้ำจืด 154.18 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.00 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.15 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 81.74 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 5.34 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 58.70 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.96 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 38.79 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.17 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 62.85 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 61.58 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.27 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงาน
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 117.62 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 118.89 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.27 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 124.17 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 120.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 4.17 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.94 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 55.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.00 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 122.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 120.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.00 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.91 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 7.80 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.11 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60%(ระหว่างวันที่ 17-23 ม.ค.2552)เฉลี่ยกิโลกรัมละ 32.06 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 30.54 ของสัปดาห์ก่อน 1.52 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19-25 มกราคม 2552--