พิษเศรษฐกิจยังกระทบราคาข้าว ถึงเวลาเกษตรกรต้องก้าวให้ทัน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 28, 2009 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.7 เผย วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ปี 51 โยงผลข้ามปี ตลาดส่งออกข้าวเกิดการแข่งขันสูง ประชาชนลดกำลังซื้อ ส่งผลกระทบราคาข้าวแม้ราคาจะกระเตื้องขึ้นมาก็ตาม ย้ำ มาตราการเปิดรับจำนำข้าวช่วยแก้ปัญหาแบบระยะสั้น พร้อมเร่งหาแนวทางพัฒนาการผลิตให้เหมาะสมกับตลาดโลก และพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ราคาข้าวเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้วทำให้เกษตรกรในหลายประเทศขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นส่งผลให้การผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้นจาก 965 ล้านไร่ เป็น 974 ล้านไร่ ผลผลิตเพิ่มจาก 431.31 ล้านตันในปีที่แล้ว เป็น 439.08 ล้านตันในปี 2551/52 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.80 โดยปริมาณการค้าโลกปี 2551/52 มีจำนวน 29.5 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 1.20 ขณะที่ในช่วงกลางปี 2551 เกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐ และลุกลามไปทั่วโลก ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ความสามารถการซื้อข้าวของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจึงลดลงตามไปด้วย การแข่งขันในตลาดค้าข้าวจึงมีสูงขึ้น กดดันให้ราคาส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น เวียดนาม ต้องประสบภัยธรรมชาติ คุณภาพข้าวต่ำ และยังเร่งขายในราคาถูก จึงฉุดให้ราคาข้าวในตลาดโลกยิ่งต่ำลง และกระทบตลาดข้าวไทย ปัจจุบันราคาส่งออกข้าวของเวียดนามชนิด 5 % ราคาจำหน่ายตันละ 13,311 บาท ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไทย ตันละ 20,281 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกความชื้น 20-21% ที่เกษตรกรขายได้ในประเทศเดือนธันวาคม เฉลี่ยตันละ 9,020 บาท ซึ่งการรับจำนำจะช่วยบรรเทาราคาข้าวตกต่ำได้ระดับหนึ่ง เพราะช่วยดึงอุปทานข้าวออกจากตลาดไปบางส่วน ถ้าไม่มีการรับจำนำข้าวนาปี ราคาข้าวในประเทศอาจลดลงกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น การรับจำนำข้าว ยังคงเป็นมาตรการที่จำเป็นที่ช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรในช่วงที่ออกสู่ตลาดมากได้ และหลังจากเวียดนามขายข้าวหมดประมาณเดือนธันวาคม 51 ราคาข้าวในตลาดโลกคาดว่าจะกระเตื้องขึ้น ซึ่งรัฐสามารถเอาข้าวในโครงการออกมาระบายได้ โดยเร่งหาตลาดร่วมกับภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำด้วยการรับจำนำข้าวยังเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะปานกลาง สศก. จะร่วมมือและดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน และควบคุมการผลิตให้เหมาะสมกับภาวะการตลาด รวมถึงพัฒนาความรู้ของเกษตรกรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสนับสนุนข้อมูลการผลิต การตลาด และพัฒนาการรวมกลุ่มที่มีศักยภาพ ให้มีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ และวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และมีความยั่งยื่นต่อกระบวนการผลิตข้าวของประเทศไทยในอนาคตต่อไป นายชวพฤฒ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ