หอมแดงไทยเจอศึก อินโดคลอดกฎใหญ่ คุมเข้มนำเข้า

ข่าวทั่วไป Thursday February 5, 2009 13:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย อินโดนีเซีย ออกกฎนำเข้าหอมแดงใหม่แบบคุมเข้มตัดต้น ตัดราก ส่งผลหอมแดงไทยส่อแววไม่สดใส ทั้งด้านการเก็บรักษาที่เน่าเสียง่าย และต้นทุนที่สูงขึ้น ด้าน กษ. เตรียมเร่งเจรจาผ่อนปรน และหามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลผลิตหอมแดงที่คาดว่า ปีนี้จะมีปริมาณ 204,137 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 2.36 โดยจากการติดตามสถานการณ์หอมแดงในเดือนมกราคม 52 ที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผลผลิตออกสู่ตลาดก่อนแหล่งผลิตอื่น พบว่า พื้นที่ปลูกและผลผลิตมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 70 ขณะที่ผลผลิตในภาคเหนือได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต และลงหัว ขณะที่บางพื้นที่มีอายุเริ่มแก่และใกล้เก็บเกี่ยว สำหรับการส่งออกหอมแดงปีนี้ค่อนข้างส่อแววมีปัญหา เนื่องจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดหลักหอมแดงของไทย ได้ใช้กฎเกณฑ์การเข้มงวดการนำเข้า โดยออกกฎระเบียบกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องตัดต้นและตัดราก และจากการสอบถามพ่อค้าส่งออก พบว่า มาตรการดังกล่าวมีผลทำให้หอมแดงเน่าเสียง่าย อายุการเก็บรักษาสั้นลง ประกอบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกสูงขึ้น อีกทั้งใช้เวลาดำเนินการมาก ทำให้ส่งออกได้น้อยลง โดยในปีนี้ ไทยเริ่มส่งออกหอมแดงไปอินโดนีเซียประมาณกลางเดือนมกราคม 52 ซึ่งช้ากว่าทุกปีที่เคยส่งออกที่ประมาณปลายเดือนธันวาคม และคาดว่า การส่งออกหอมแดงไทยไปอินโดนีเซียปีนี้ จะมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลมากจากระเบียบดังกล่าวด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าหอมแดงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากนัก เนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศยังมีมาก สามารถรองรับผลผลิตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้ได้เกือบทั้งหมด และการค้ายังเป็นไปตามกลไกของตลาดปกติ ซึ่งราคาหอมแดงสดแก่คละ ที่เกษตรกรขายได้ มีราคากิโลกรัมละ 10.00 บาท โดยผลผลิตหอมแดงของจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ลำพูน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป และออกมากในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบและอาจจะมีราคาตกต่ำ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการแก้ไขปัญหา กระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไข พร้อมกับการเจรจาผ่อนปรน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้เร็วที่สุด นายอภิชาต กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ