สศก. ลงพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ พบเกษตรกรผู้ปลูกข้าวประสบภัย วอนรัฐเข้าช่วยเหลือ

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2009 15:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ประเมินผลโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ พบ เกษตรกรยังประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ฝนแล้ง และบางพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ด้าน กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าหามาตรการแก้ไข และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ทั้งระบบช่วยเหลือเกษตรกรก่อนถึงฤดูกาลผลิตนี้

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง สศก. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อประเมินผลโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ปีเพาะปลูก 2551/52 ในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า เกษตรกรประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ จากภาวะฝนแล้ง และพื้นที่บางส่วนเกิดน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเสียหาย อีกทั้งยังมีปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่แม้ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา ราคาข้าวยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลับไม่ได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น สืบเนื่องมาจากในช่วง 2 — 3 ปีมานี้ การปลูกข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้งเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงภาวะน้ำท่วมในเขตที่ลุ่มใกล้ลำน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเกิดความเสียหาย

ด้านนางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการ และรองโฆษก สศก. กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องดังกล่าวว่า แม้ทางรัฐจะได้มีการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินและการจัดการแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาแล้วส่วนหนึ่งก็ตาม แต่ยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งในส่วนของเกษตรกรที่พอจะได้รับผลผลิตก็มีความจำเป็นต้องต้องเร่งขายข้าวสดไปก่อน เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าปุ๋ย และค่ารถเกี่ยวข้าว ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าราคาข้าวหลังการตากลดความชื้น เกษตรกรจึงไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยจากผลสำรวจ ยังพบว่า ในส่วนของผู้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติอยากขอให้รัฐดำเนินการช่วยเหลือโดยเร็ว ทั้งด้านการจ่ายชดเชยผู้ประสบภัยแล้ง การดำเนินการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงแหล่งน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคูคลองและฝายทดน้ำที่ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนในส่วนของเกษตรกรบางรายที่ต้องสูญเสียที่ดินเพื่อดำเนินการในดังกล่าวจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ในที่ดินได้ ซึ่งอยากได้รับค่าชดเชย หรือ ให้รัฐจัดหาที่ทำกินให้ใหม่

นอกจากนี้ ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ มักมาจากปัญหาภัยธรรมชาติ และราคาปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูง ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างแรงงาน และค่าจ้างเครื่องจักร ได้แก่ รถไถ และรถเกี่ยวที่สูงขึ้น ซึ่งเมื่อเกษตรกรลงทุนทำการผลิตไปแล้วได้ผลผลิตต่ำ ต้นทุนที่ลงทุนไปก็สูญเปล่าก่อให้เกิดภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่ง ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการหามาตรการและแนวทางในการขจัดปัญหาต่างๆ ทั้งด้านราคาผลผลิต ราคาปัจจัยการผลิต และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ทั้งระบบให้กับเกษตรกรโดยเร็วก่อนฤดูการผลิตใหม่จะมาถึงนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ