สศก. เผย เส้นหมายเลข R9 เชื่อมพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม และเส้นทางหมายเลข R12 จากนครพนม ลาว และเวียดนาม เส้นทางค้าส่งสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศจีน ยังประสบปัญหาการถูกระงับการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านผิงเสียง และการขอใบอนุญาตนำเข้า รวมทั้งการประเมินราคาสินค้าสูงเกินจริง
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก.ได้มีการศึกษาระบบ Logistics และ Supply Chain สินค้าเกษตรเพื่อขยายตลาดส่งออกไปประเทศในเอเชียปี 2551 กรณีศึกษาผลไม้และผลิตภัณฑ์ เส้นทางขนส่งทางถนนในแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) พบว่า ผลไม้เมืองร้อนได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคของคนจีน มีตลาดค้าส่งเจียงหนาน เมืองกวางโจว ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของจีนและเป็นศูนย์กลางในการกระจายผักผลไม้ไปสู่เมืองอื่นๆ ที่นำเข้าผลไม้จากไทยมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด โดยในปัจจุบันเส้นทางการขนส่งผลไม้ไทยไปยังตลาดเจียงหนานมี 2 เส้นทางหลักคือเส้นทางทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังผ่านท่าเรือฮ่องกง หรือท่าเรือเสอโข่วไปยังตลาดเจียงหนานใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน เส้นทางสาย R9 จากมุกดาหารผ่านลาว เวียดนาม เข้าสู่จีนทางด้านด่านผิงเสียงผ่านเมืองหนานหนิงเข้าสู่ตลาดเจียงหนานใช้เวลาประมาณ 3 วัน ส่วนเส้นทางสาย R12 ขณะนี้ยังไม่มีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก
โดยนางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการ ในฐานะรองโฆษก สศก. เผยถึงผลการวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่า ต้นทุนการส่งออกผลไม้จากแหล่งผลิตของไทยทางบกไปยังตลาดเจียงหนาน มีต้นทุนโลจิสติกส์ของทุเรียน มังคุด และลำไยคิดเป็นร้อยละ 54, 64 และ 54 ของต้นทุนทั้งหมดตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนโลจิสติกส์ทั้งหมดระหว่างการขนส่งทางบกและทางทะเล พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์การส่งออกทุเรียน มังคุด และลำไยทางบกสูงกว่าทางทะเลร้อยละ 6.5, 3.6 และ3 ตามลำดับ โดยต้นทุนที่แตกต่างกันเกิดจากต้นทุนค่าขนส่งเป็นหลักที่สำคัญได้แก่ ค่าขนส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าบรรจุภัณฑ์ ถึงแม้ต้นทุนการขนส่งทางถนนจะสูงกว่าทางทะเล แต่ในทางปฏิบัติสามารถลดต้นทุนลงได้หากมีการพัฒนาใช้ตู้ขนาด 45 ฟุตแทนขนาด 40 ฟุต และมีการขนส่งสินค้าเที่ยวกลับมาด้วย อีกทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาค่าระวางเรือสูงเกือบเท่าตัวในช่วงฤดูผลไม้กระจุกตัว ทั้งนี้ แม้ว่าการขนส่งทางบกจะมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าแต่ก็ไม่มากกว่าการขนส่งทางทะเล แต่การขนส่งทางบกใช้เวลาสั้นกว่าซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประทานผลไม้ที่สด สามารถทำตลาดได้ดีกว่า
อย่างไรก็แล้วแต่ยังประสบปัญหา คือ สำนักงานควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ กรุงปักกิ่ง (State General Administration of the People’s Republic of China for Quality Supervision and Inspection and Quarantine: AQSIQ) ได้สั่งระงับการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านผิงเสียงเป็นการชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเจรจาร่วม 2 ฝ่ายและอยู่ระหว่างยกร่างบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคในเรื่องใบอนุญาตนำเข้า (Quarantine Import Permit :QIP ) โดยขอให้มีการจดทะเบียนผู้นำเข้าแทนการขอใบอนุญาตจาก AQSIQ ทุก 6 เดือน ซึ่งล่าช้าและไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ รวมทั้งการประเมินราคาหรือมูลค่าสินค้านำเข้าของจีนที่นำไปคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากใช้วิธีการขนส่งทางเครื่องบินเป็นฐานในการประเมิน ทำให้ราคาสูงเกินจริง ซึ่งปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเตรียมเร่งดำเนินการให้มีการเจรจาเพื่อให้เกิดมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันของการขนส่งผลไม้เพื่อแก้ไขปัญหาการระงับการนำเข้าที่ด่านผิงเสียง รวมทั้งขอให้จีนมีการทบทวนวิธีการประเมินราคาหรือมูลค่าผลไม้นำเข้าจากไทย เพื่อที่ไทยจะมีโอกาสขยายตลาดส่งออกผลไม้ทางบกตามกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ต่อไป นางนารีณัฐ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--