กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมหารือนโยบายและแผนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ กับคณะทำงานการเกษตร อาหาร และสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ย้ำข้อสรุปร่วมกัน เร่งรัดเรื่องสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผลักดันให้เกิดพ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย และสร้างความรู้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการหารือร่วมเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ กับคณะทำงานการเกษตร อาหาร และสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมาว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายและแผนงานด้านการเกษตร ซึ่งมีกรอบการดำเนินงานสอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน การดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และกรอบการดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 นโยบายหลัก คือ
1. นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีพ.ศ. 2552 โดยการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การจัดทำโครงการเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น การจัดหาตลาดรองรับสินค้าเกษตรชุมชน การพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำและการชลประทาน การเร่งรัดแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ ของเกษตรกร รวมทั้งการเร่งรัดจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ
2. นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร โดยแบ่งเป็น ด้านการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ที่จะเน้นส่งเสริมให้มีระบบประกันความเสี่ยงสำหรับเกษตรกร จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร จัดทำทะเบียนเกษตรกร เร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกร สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ และสร้างและพัฒนาเกษตรกรอาสาสมัคร ด้านการพัฒนาการผลิต โดยจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าเกษตรระยะยาวเป็นรายสินค้า พัฒนาคุณภาพผลผลิตและพัฒนาระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้า กำหนดเขตส่งเสริมและพัฒนาการผลิต วิจัยและพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ร่วมเจรจาการทางค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตพืชทดแทนพลังงาน ส่งเสริมการทำประมงนอกน่านน้ำ และด้านการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและภารกิจสนับสนุน โดยพัฒนาปรับปรุงและขยายระบบชลประทาน ร่วมแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ออกกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตร เร่งรัดจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร เร่งรัดและขยายการจัดรูปที่ดิน ฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม และพัฒนาระบบสารสนเทศ
ทั้งนี้ ผลการหารือดังกล่าวได้สรุปร่วมกันว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ จะรีบผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย เร่งรัดดำเนินการเรื่องสภาเกษตรกรแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งด้วยระบบชลประทาน ดูแลการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดินและพืชที่ปลูก ที่ทำให้ต้นทุนสูงโดยไม่ได้รับประโยชน์ สารเคมีที่พืชไม่ได้นำไปใช้ตกค้างอยู่ในดิน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--