1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(6 — 12 ก.พ. 2552) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 821.87 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 507.22 ตัน สัตว์น้ำจืด 314.65 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.91 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.55 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 94.39 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 6.65 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 62.98 ตัน
การตลาด
โครงการพัฒนาปลาน้ำจืดไทยส่งออกต่างประเทศ
น.พ.ฆนัท ครุธล ที่ปรึกษาโครงการนำร่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปลาน้ำจืดไทยเปิดเผยว่า โครงการพัฒนาปลาน้ำจืดไทยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเอฟทีเอ 13 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันสินค้าปลาน้ำจืดไทยให้ทัดเทียมกับปลาต่างประเทศ ซึ่งมีการนำเข้าปลาแม็กเคอเรล และปลาซาบะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าเอฟทีเอของไทย เช่น เอฟทีเออาเซียน-จีน เอฟทีเอไทย-เอฟตา(สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป) ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาอาจจะส่งผลให้ปลาจากนอร์เวย์ และไอร์แลนด์เข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น โดยในปัจจุบันมูลค่าการตลาดประมงสัตว์น้ำอยู่ที่ปีละ 3-4 แสนล้านบาท โดยเป็นปลาน้ำจืดประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แม้ว่าปลาไทยและปลานอกจะเป็นปลาคนละชนิด แต่ความเชื่อของผู้บริโภคจะหันไปนิยมปลานอกที่มีราคาลดลงหลังจากลดภาษีนำเข้า เพราะเชื่อว่ามีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า แต่ความจริงแล้วเราได้ศึกษาพบว่า ปลาน้ำจืดมีโอเมก้าเหมือนกัน และมีไขมัน คอเลสเตอรอลน้อยกว่าปลาทะเล แต่ต้องปรับปรุงระบบการเลี้ยงให้มีมาตรฐานสากลมีคุณภาพ ปลอดภัย ปราศจากสิ่งปนเปื้อนให้มากขึ้น โดยเบื้องต้นได้มีการจัดสรรเงินดำเนินการวิจัย 13 ล้านบาท เพื่อสร้างมาตรฐานการเลี้ยง โดยกำหนดพื้นที่โครงการนำร่อง 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ โดยเลือกปลา 3 ชนิด คือ ปลาดุก ปลานิล และปลาสวาย ซึ่งเป็นปลาที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีมากที่สุด สิ่งสำคัญนอกจากการสร้างความเข้าใจถึงคุณค่าทางโภชนาการที่มีต่อปลาน้ำจืดแล้ว เราต้องสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ทางโครงการจึงเตรียมพัฒนาสินค้าในรูปแบบต่างๆ อาทิ ปลานิลจะนำไปทำเป็นเนื้อปลานิลแล่แช่แข็ง ทั้งแบบสดและชุบแป้ง ฉู่ฉี่ปลานิลแช่แข็ง ปลานิลหวาน ส่วนปลาสวาย ทำเป็นปลาสวายแล่แช่แข็ง ปลาสวายแล่แช่แข็งชุบแป้ง ปลาสวายเส้นปรุงรส และปลาดุก ทำเป็นปลาดุกแดดเดียวดิบทอด โดยมีเป้าหมาย 3 ปี จะต้องเพิ่มมูลค่าการตลาดปลาน้ำจืดให้มากขึ้นอีก 20-30% และทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการบริโภคจาก 30 กิโลกรัม/คน/ปี เป็น 40—50 กิโลกรัม/คน/ปี
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.14 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 38.44 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.30 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 62.76 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 62.22 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.54 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 119.29 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.71 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 124.61 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 126.84 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.23 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 130.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 131.66 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.66 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.94 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 60.29 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.29 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 125.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 121.43 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.57 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.58 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.08 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60%(ระหว่างวันที่ 21-27 ก.พ.2552) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 27.20 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 27.34 ของสัปดาห์ก่อน 0.14 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2552--