สศข. 7 เผยผลศึกษาภาวะแรงงานภาคเกษตรไทย ปีเพาะปลูก 50/51

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2009 13:10 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ลงพื้นที่ศึกษาแรงงานภาคเกษตรปีเพาะปลูก 50/51 จ. ชัยนาท สุพรรณบุรี และปทุมธานี พบ แรงงานเกษตรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น การศึกษาน้อยลง และมีการเคลื่อนย้ายออกมากขึ้น แนะ การพัฒนาความรู้แก่เกษตรกร และสร้างปัจจัยดึงดูดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและแรงงานให้กลับสู่ภาคเกษตรมากขึ้น

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การศึกษาภาวะตลาดแรงงานภาคการเกษตร ปีเพาะปลูก 2550/2551 กรณีศึกษาจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี และจังหวัดปทุมธานี พบว่า โครงสร้างแรงงานภาคการเกษตร มีสัดส่วนเพศชายร้อยละ 51.21 เพศหญิงร้อยละ 44.46 อายุเฉลี่ย 44.51 ปี (สูงกว่านอกภาคเกษตรที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 31.78 ปี) โดยร้อยละ 68.18 จบระดับชั้นประถมศึกษา และมีเพียงร้อยละ 1.82 จบระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า (นอกภาคเกษตรส่วนใหญ่จบระดับประถมศึกษาร้อยละ 27.88 ระดับปริญญาตรีและสูงกว่าร้อยละ 22.11 ) ด้านการประกอบอาชีพเกษตรส่วนใหญ่นั้นปลูกพืชเป็นหลัก มีขนาดเนื้อที่ถือครองต่อครัวเรือนเกษตร 34.53 ไร่ต่อครัวเรือนเกษตร เป็นที่ดินของตนเองร้อยละ 49.17 ที่ดินเช่าร้อยละ 46.01 และเป็นที่ดินทำฟรีร้อยละ 4.80 ซึ่งจากการศึกษาในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2550 ถึง 30 เมษายน 2551 พบว่า มีแรงงานเกษตรเคลื่อนย้ายเข้า - ออก ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของรายได้ในภาคการเกษตร ความผันผวนของราคาผลผลิต ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงกลายมาเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ค่านิยมที่เปลี่ยนไป แรงงานครัวเรือนไม่นิยมทำงานภาคเกษตร บิดามารดาไม่สนับสนุนให้ลูกหลานทำงานเกษตร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่พอมีความรู้ มีทางเลือกมาขึ้น จึงย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมือง หันมาทำงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น ครัวเรือนเกษตรกรขาดที่ดินทำกินที่เป็นของตัวเอง พื้นที่ทำการเกษตรแปรเปลี่ยนไปเป็นของนายทุนเพื่อเก็งกำไร และสุดท้ายการเข้าถึงเครื่องมือเครื่องจักร จากการพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อมาทดแทนแรงงานเกษตร แรงงานครัวเรือนหรือแรงงานจ้างก็ยิ่งลดความสำคัญลง แรงงานเกษตรจึงเคลื่อนย้ายสู่นอกภาคเกษตรมากยิ่งขึ้น

ด้านการใช้แรงงานครัวเรือน พบว่า การที่ผลผลิตทางการเกษตรค่อนข้างคงที่ ในขณะที่จำนวนแรงงานภาคการเกษตรลดลง ประสิทธิภาพของแรงงานจึงมาจากการลดลงของแรงงานส่วนเกิน โดยขนาดการใช้ที่ดิน พบว่า เมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตร ทำให้การทำเกษตรมีแนวโน้มเปลี่ยนเป็น 2 รูปแบบคือ 1) ครัวเรือนเกษตรที่อาศัยแรงงานครัวเรือนเป็นหลักมักมีขนาดเล็ก 2) ฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยเงินทุน เครื่องจักรและแรงงานจ้างเป็นหลัก

สำหรับปัญหาแรงงานเกษตร พบว่า แรงงานเกษตรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น มีแนวโน้มระดับการศึกษาน้อยลง ประสิทธิภาพของแรงงานไม่สูง มีการเคลื่อนย้ายสู่นอกภาคเกษตรมากขึ้น ขนาดฟาร์มมีแนวโน้มสู่ฟาร์มขนาดเล็กและขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งการพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร โดยส่งเสริมให้ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวิถีการเกษตร ส่งเสริมให้แรงงานสามารถปรับปรุงพัฒนาตนเอง จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานภาคเกษตรได้ซึ่งทาง สศข. 7 จะร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อรณรงค์ส่งเสริม และสร้างปัจจัยดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้กลับเข้ามาทำงานภาคเกษตรด้วยความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ