"3 ทศวรรษ สศก.” องค์กรชี้นำการพัฒนาการเกษตรของประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2009 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ครบรอบ 3 ทศวรรษ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมุ่งสู่องค์กรชี้นำการพัฒนาการเกษตรของประเทศ และเป็นศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศการเกษตรของไทยและภูมิภาคอาเซียน พร้อมนำเสนอทิศทางสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรกู้วิกฤติเศรษฐกิจชาติ

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่จะถึงในวันที่ 24 มีนาคม 2552 สศก.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและเสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแผนพัฒนาการเกษตร เพื่อให้การเกษตรของประเทศเจริญก้าวหน้า ทำให้เศรษฐกิจของชาติมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา สศก.ได้มุ่งมั่นพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และสถิติให้ทันสมัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็วและแม่นยำ น่าเชื่อถือจนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

และในก้าวย่างที่ 31 ของ สศก. มีเป้าหมายสำคัญคือการเป็นองค์กรชี้นำการพัฒนาการเกษตรของประเทศ และเป็นศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรของประเทศและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่เป็นเลิศด้านเศรษฐกิจการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเจริญเติบโตของภาคเกษตรที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ดีขึ้น อันเป็นรากฐานความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก ได้ส่งผลต่อระบบการผลิตสินค้าเกษตรของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การวางแผนพัฒนาภาคเกษตรของไทยต้องมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่ง สศก.ได้ศึกษาวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นระยะ สำหรับนำไปจัดทำเป็นนโยบายเพื่อรองรับและช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่มั่นคง โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการภายในปี 2552 ประกอบด้วย

1.การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากการถูกกดราคารับซื้อ การกระจุกตัวของผลผลิต การได้รับผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม โดยให้มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประกันสินค้าเกษตรและเร่งหาตลาดใหม่รองรับ แก้ปัญหาโครงสร้างภาคเกษตรทั้งระบบอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กับปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเตือนภัยด้านการเกษตร และร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 2.จัดทำโครงการเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น เนื่องจากการเลิกจ้างงาน 3.จัดหาตลาดรองรับสินค้าเกษตรชุมชน 4.พัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำและการชลประทานในระยะเร่งด่วน เน้นการสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และการขุดลอกคูคลอง เพื่อขยายพื้นที่ชลประทาน และ5.เร่งรัดแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ ของเกษตรกร โดยพิจารณาจากเรื่องที่ยังคงค้างให้สิ้นสุดโดยเร็ว

นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปีนี้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้มีการชะลอการสั่งซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่สามารถมีทางเลือกอื่นทดแทน ดังนั้น แนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือการรักษาฐานตลาดส่งออกเดิมไว้ให้อยู่ อย่าให้ลดลง พร้อมกับเปิดตลาดใหม่ นอกจากนี้ จะต้องส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางระบายสินค้าไม่ให้ล้นตลาด ที่สำคัญต้องมีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรเองควรพัฒนาระบบการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใดควรน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต เพื่อความมั่นคงในชีวิตต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ