สศก. เผยผลการเจรจา FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น หนุนการส่งออกสินค้าเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2009 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พิจารณาผลการตกลง AJCEP และ JTEPA ซึ่งเริ่มลดภาษีไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 พบ สินค้าเกษตรภายใต้กรอบ AJCEP ไทยไม่ได้เปิดตลาดให้ญี่ปุ่นมากไปกว่าที่ให้ไว้ภายใต้กรอบ JTEPA ย้ำ ไม่กระทบต่อจากนำเข้าสินค้าเกษตรจากญี่ปุ่น ด้านการติดตามผลของ JTEPA ยังไม่ปรากฏสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการลดภาษีเช่นกัน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อรองรับการปฏิบัติตามความตกลง ก่อนที่จะให้สัตยาบันแสดงเจตนาให้ความตกลงมีผลใช้บังคับต่อไปนั้น สศก. ได้พิจารณาเทียบเคียงผลการตกลง AJCEP และ JTEPA หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นซึ่งเริ่มลดภาษีไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมาแล้ว พบว่า ในส่วนของสินค้าเกษตรภายใต้กรอบ AJCEP นั้น ไทยไม่ได้เปิดตลาดให้ญี่ปุ่นมากไปกว่าที่ให้ไว้ภายใต้กรอบ JTEPA ดังนั้น จึงไม่กระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรจากญี่ปุ่น และจากการติดตามผลของ JTEPA ก็ยังไม่ปรากฏสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการลดภาษีแต่อย่างใด มีเพียงการขอใช้สิทธิ์การลดภาษีเพื่อการส่งออกไม่มากนักเท่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน มีสินค้าเกษตรบางรายการซึ่งญี่ปุ่นยอมเปิดตลาดให้แก่อาเซียนรวมถึงไทยภายใต้กรอบ AJCEP มากกว่าที่เคยให้ไว้แก่ไทยภายใต้กรอบ JTEPA ซึ่งเป็นไปตามปกติของการรวมกลุ่มต่อรองภายใต้กรอบอาเซียนย่อมจะมีพลังมากกว่า โดยสินค้าเกษตรที่ไทยได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และปลาอื่นๆปรุงแต่งที่บดแล้ว (ซึ่งภายใต้ JTEPA ญี่ปุ่นคงภาษีที่ 9.6% และให้เจรจาใหม่ในอีก 5 ปี แต่ภายใต้ AJCEP ญี่ปุ่นจะภาษีเหลือ 5% ในปี 2561) ปลาหมึกปรุงแต่งบรรจุกระป๋อง (ซึ่งภายใต้ JTEPA ญี่ปุ่นไม่ยอมลดภาษี แต่ภายใต้ AJCEP ญี่ปุ่นจะภาษีจาก 10.5% เหลือ 9% ในปี 2561) และขิงอ่อนปรุงแต่ง (ซึ่งภายใต้ JTEPA ญี่ปุ่นคงภาษีที่ 12% และให้เจรจาใหม่ในอีก 5 ปี แต่ภายใต้ AJCEP ญี่ปุ่นจะภาษีเหลือ 9% ในปี 2561)

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าความตกลง ACJEP จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย แต่จะต้องแข่งขันกับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อีกด้วย ดังนั้น การที่ไทยมีความตกลงกับญี่ปุ่นทั้ง 2 กรอบ จะเป็นทางเลือกให้แก่ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย และเอื้อต่อการกำหนดแนวทางเจรจาต่อรองของไทยภายใต้กรอบ JTEPA ในการอ้างอิงบรรทัดฐานในการเปิดตลาดของญี่ปุ่น สำหรับสินค้าเกษตรที่กำหนดให้มีการเจรจากันใหม่ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ