สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เชิญร่วมรับฟังการสัมมนาทางรอดผลไม้ไทยภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก ระดมความคิดเห็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร แก้ปัญหาปริมาณผลไม้ล้นตลาด ผลไม้ราคาตกต่ำ และคุณภาพผลไม้ ดีเดย์ 22 มีนาคม นี้ ห้องประชุมพึ่งบุญ สอบถามรายละเอียด ส่วนนโยบายและแผนการเกษตร โทร. 0 2940 6671-2
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เตรียมจัดสัมมนา เรื่อง “ทางรอดผลไม้ไทยภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก” เพื่อระดมความคิดเห็นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาปริมาณผลไม้ล้นตลาด ผลไม้ราคาตกต่ำ และคุณภาพผลไม้ รวมทั้งแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปสรุปและเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน ยั่งยืน สัมฤทธิ์ผลและเป็นรูปธรรม โดยได้รับเกียรติจาก รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชาติชาย พุคยาภรณ์) เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์) เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ขยายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในโลก ทำให้ความต้องการและกำลังซื้อสินค้าเกษตร ของผู้บริโภคในตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นลดลง ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกกว่าร้อยละ 70 ของ GDP ปัจจุบันสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดได้รับผลกระทบและมีราคาตกต่ำ สำหรับผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญย่อมได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจด้วย
ประเทศไทยมีการผลิตผลไม้เมืองร้อนนานาชนิด ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศ และมีการส่งออกผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยส่งออกทั้งในรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ในปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 55,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 4.3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร สำหรับผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลิ้นจี่ และลองกอง โดยปริมาณผลผลิตผลไม้ ในปี 2552 คาดว่าจะมีผลผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,787,535 ตัน โดยผลผลิตที่มีมากที่สุด คือ ทุเรียน 684,104 ตัน รองลงมาคือ ส้มเขียวหวาน 584,783 ตัน ลำไย 514,231 ตัน เงาะ 424,287 ตัน ลิ้นจี่ 63,411 ตัน มังคุด 270,938 ตัน และลองกอง 245,781 ตัน ผลไม้ของไทยเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเป็นฤดูกาลขึ้นอยู่กับภูมิอากาศแต่ละปี เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมเวลาการให้ผลผลิตได้ จึงมีช่วงผลผลิตออกมากพร้อมกัน หรือใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดสถานการณ์ผลผลิตกระจุกตัวในช่วงกลางฤดูส่งผลให้ราคาผลไม้ตกต่ำ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่เห็นผล เป็นที่ชัดเจน และเกิดปัญหาเป็นประจำทุกปี ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชน ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2552 เวลา 8.30-16.00 น. ณ ห้องประชุมพึ่งบุญ ชั้น 8 อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนนโยบายและแผนการเกษตรโทร. 0 2940 6671-2 ในวันและเวลาราชการ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--