หอมแดงไทยไปอินโดฯ ยังครองแชมป์ ต้องเน้นคุณภาพสินค้า ฝ่ากฎเข้มการนำเข้า

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2009 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าติดตามสถานการณ์หอมแดงไทยในตลาดอินโดนีเซีย เผย ไทยยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 1 ส่งออกปีละ 40,000 ตัน มูลค่า 400 ล้านบาท แม้อินโดฯ ออกกฎใหญ่คุมเข้มการนำเข้าและต้องมีใบรับรองสุขภาพ แนะ ส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับปรุงคุณภาพการผลิต ลดการใช้เคมี เพื่อครองแชมป์ในตลาดส่งออก

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามสถานการณ์หอมแดงในเมืองจากาตาร์ และเมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักหอมแดงใหญ่ของไทยเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2550 พื้นที่ปลูกหอมแดงของอินโดนีเซีย ทั้งประเทศ มีประมาณ 585,588 ไร่ ผลผลิต 802,810 ตัน มีช่วงเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤษภาคม — พฤศจิกายน และมีการนำเข้าปริมาณ 107,640 ตัน มูลค่า 1,544 ล้านบาท โดยมีไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ซึ่งนำเข้าจากไทยปีละประมาณ 40,000 ตัน มูลค่า 400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดียและปากีสถาน โดยช่วงนำเข้าอยู่ประมาณเดือนธันวาคม — เมษายน และจากการสำรวจจากแหล่งข้อมูลในอินโดนีเซีย พบว่า อินโดนีเซียผลิตหอมแดงไม่เพียงพอ ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศทุกปี ปีละกว่า 100,000 ตัน ซึ่งสินค้าหอมแดงของไทยจะมีความได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องความนิยมของตลาด รูปทรงและสีสวยสดกว่า แต่ปัญหาสำคัญที่พบ คือ หอมแดงไทยจะเน่าเสียง่ายและเวลาเน่าจะมีกลิ่นเหม็นมาก เนื่องจากมีการใส่ปุ๋ยเคมีเร่งผลผลิต อีกทั้งเกษตรกรอินโดนีเซียได้นำหอมแดงของไทยไปปลูก ซึ่งหอมแดงที่นำเข้าจากไทยยังไม่ได้มีการรับรองพันธุ์ ทำให้เกิดความเสียหาย

ด้าน นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึงระเบียบการนำเข้าสินค้าพืชสด ประเภทหัวกลุ่ม (bulb) ฉบับใหม่ของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2551 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ซึ่งกำหนดว่า หอมแดงที่นำเข้ามายังอินโดนีเซียจะต้องปลอดภัยจากแมลง และเชื้อโรค รวมทั้งต้องทำให้พ้นสภาพการมีชีวิตด้วยการตัดใบและราก เพื่อป้องกันมิให้นำหอมแดงไปเพาะปลูก และกำหนดให้หอมแดงต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชจากหน่วยงานภายในประเทศที่มีอำนาจเพื่อประกอบการอนุญาตนำเข้า ซึ่งจากระเบียบดังกล่าว ส่งผลให้การส่งออกได้น้อยลง เนื่องจากทำให้หอมแดงเน่าเสียง่ายขึ้น อายุการเก็บรักษาสั้นลง ประกอบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกสูงขึ้น และใช้เวลาดำเนินการมาก หากพิจารณาการใช้ระเบียบกับผู้ส่งออกทั้งของไทยและคู่แข่ง เห็นว่าต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของหอมแดงของไทยในตลาดอินโดนีเซีย ให้เป็นอันดับ 1 ต่อไป ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำหนดแนวทางร่วมกับ เกษตรกร และผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงระบบการผลิต เช่น ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในระบบ GAP เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการเร่งผลผลิต และผู้ประกอบการควรส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพ อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และรักษาความได้เปรียบของสินค้าหอมแดงของไทยในตลาดได้ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ