สศก. แจงนโยบายความมั่นคงทางด้านอาหาร 6 มาตรการ ต้านวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2009 14:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย มาตรการความมั่นคงทางด้านอาหาร ของไทย 6 มาตรการหลัก ครอบคลุมประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาพลังงานทางเลือกและการคุ้มครองพื้นที่การเกษตร การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงทางด้านการผลิตการบริโภคทั้งในระดับชุมชน จนถึงประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาสินค้าอาหารและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายให้กับผลผลิต ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทำให้ประเด็นความมั่นคงด้านอาหารได้ถูกยกขึ้นเป็นประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารรายสำคัญของโลก โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวเพื่อที่จะรักษาความมั่นคงทางอาหาร จึงได้มีมาตรการในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ดังนี้

          1. สนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต โดยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบชลประทาน แหล่งน้ำ และการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับนวัตกรรมและองค์ความรู้ทางการเกษตรในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต การผลิตทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกร  2. สนับสนุนการพัฒนาพลังงานทางเลือกโดยใช้วิทยาการ และเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชาติ และภูมิภาค รวมทั้งรักษาระดับพื้นที่ปลูกพืชพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกพืชอาหาร  3. สนับสนุนการคุ้มครองพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตชลประทานเพื่ออนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการออกกฎหมายและสนับสนุนให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการคุ้มครอง   4. สนับสนุนการกำหนดเขตการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่เหมาะสม (Zoning) ตามศักยภาพของดิน น้ำ ภูมิอากาศ และภูมิศาสตร์  5. สร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการรักษาความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ในการดำเนินโครงการความมั่นคงทางอาหารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระดับโลก โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตร การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบการเตือนภัยด้านความมั่นคงอาหาร เป็นต้น         6. สำรองพืชอาหารและพืชพลังงานให้มีเพียงพอกับปริมาณความต้องการภายในประเทศ รวมถึงผลักดันให้ประชากรในระดับรากหญ้า คนยากจนทั้งในเมืองและชนบทที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอาหาร

อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันวิกฤตด้านอาหารได้เริ่มบรรเทาลงจากการที่ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยได้มีมาตรการและแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อมารับมือ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน นโยบายดังกล่าวควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีปริมาณอาหารในการบริโภคเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน มีความมั่นคงทางการผลิตในการเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรเพื่อการผลิตอื่นๆ รวมไปถึงมีการกระจายผลผลิตที่ดี เป็นธรรม และเหมาะสมทั้งในระดับ ครัวเรือน ชุมชน และประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ