สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลการศึกษาระบบการทำฟาร์มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อหาต้นแบบฟาร์มขนาดเล็กที่เหมาะสมสอดคล้องในแต่ละพื้นที่ พบ เกษตรกรรายย่อย สามารถมีรายได้เกิน 2 แสนบาทต่อครัวเรือน โดยมีวิธีดำเนินกิจกรรมอย่างหลากหลาย โดยยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและรองโฆษก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาระบบการทำฟาร์มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อหาต้นแบบฟาร์มขนาดเล็กที่เหมาะสมสอดคล้องในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการศึกษาพบว่า ฟาร์มขนาด 1.5-20 ไร่ มีสมาชิกครัวเรือน 3-4 คน เป็นแรงงาน 2-3 คน มีรายได้เงินสดทางการเกษตร 210,686 บาทต่อครัวเรือน หรือ 74,290 บาทต่อแรงงาน 1 คน โดยกิจกรรมการผลิต ที่เหมาะสมต้องมีความหลากหลาย คือ ด้านพืชประกอบด้วย พืชอายุสั้น (ข้าว พืชผัก พืชไร่ ฯ) เพื่อเป็นรายได้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเป็นอาหาร พืชอายุยาว (ไม้ผล ไม้ยืนต้น) เพื่อเป็นเงินออมหรือเงินลงทุนและเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ กิจกรรมด้านสัตว์ และประมง ซึ่งเป็นทั้งรายได้และอาหาร เกษตรกรยังผลิตอาหารได้เองมีมูลค่า 13,540 บาท
นอกจากนี้ยังพบว่าฟาร์มขนาดไม่เกิน 5 ไร่ มีรายได้เงินสดประมาณ 178,000 บาท หรือคนละ 59,000 บาท ดังนั้นหากมีการพิจารณาเพื่อจัดสรรที่ดินเพื่อทำการเกษตรแก่ผู้ไม่มีที่ดินทำกินพอสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ครัวเรือนขนาด 3-4 คน มีแรงงาน 2-3 คน ที่ดินจำนวน 5 ไร่ มีการผลิตแบบหลากหลายสามารถเลี้ยงครัวเรือนได้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า กุญแจสำคัญที่ไขสู่ความสำเร็จของเกษตรกร ซึ่งเป็นปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จประกอบด้วย 4 ประการ คือ 1. ตัวเกษตรกรและครอบครัว ต้องเป็นผู้มีความขยัน อดทน ประหยัด และยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมั่นคงเหนียวแน่น เป็นผู้เรียนรู้ เพื่อตัดสินใจพร้อมกับลงมือทำ 2. รูปแบบการผลิต/กิจกรรมที่เหมาะสม ต้องเป็นการผลิตที่หลากหลาย 3. มีแหล่งน้ำเสริม ซึ่งทำให้ดำเนินกิจกรรมการผลิตได้ตลอดปี และ 4. ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ การตลาด ในแบบ “ผลิตได้ต้องขายให้เป็น” กล่าวคือสามารถเป็นพ่อค้าแม่ขายได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--