สศก. เผย ชาวนาไทยยังเสี่ยงภัยสูง เล็งใช้ระบบประกันภัย แก้ปัญหา

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2009 13:57 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เล็งแนวทางทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองต้นทุนการผลิต ช่วยเกษตรกรขจัดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ หากรัฐให้ความช่วยเหลืออุดหนุนค่าเบี้ยประกัน หวัง แก้ไขปัญหาการจ่ายเงินล่าช้า และเกิดความโปร่งใสในการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ และคุ้มครองความเสี่ยงภัยธรรมชาติทุกประเภทได้

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและรองโฆษก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาเรื่อง ความต้องการจัดการความเสี่ยงของเกษตรกร : กรณีศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อศึกษาความต้องการ และแนวทางจัดการความเสี่ยงของเกษตรกร โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการทำประกันภัยของเกษตรกรที่สำคัญ ได้แก่ ความสนใจในเงื่อนไขประกันภัย อัตราค่าเบี้ยประกันภัยที่เต็มใจจ่าย สัดส่วนพื้นที่เสียหายต่อพื้นที่ปลูก และความเสี่ยงภัยช่วงเริ่มต้นเพาะปลูก ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลให้เกษตรกรตัวอย่างในพื้นที่แล้งซ้ำซากต้องการทำประกันภัยร้อยละ 86 โดย เกษตรกรให้ความสนใจเงื่อนไขประกันภัยใน 3 รูปแบบอย่างมาก ได้แก่ รูปแบบดัชนีสภาพภูมิอากาศ รูปแบบประกันรายได้ และรูปแบบประกันต้นทุนการผลิต มีความเต็มใจจ่ายเบี้ยประกันภัยร้อยละ 5-7 ของวงเงินชดเชยต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรตัวอย่างมีสัดส่วนพื้นที่เสียหายคิดเป็นร้อยละ 21-30 ของพื้นที่ปลูกข้าว และความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วงเริ่มเพาะปลูก

สำหรับแนวทางการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร นางนารีณัฐ ให้ความเห็นว่า ควรส่งเสริมให้เกษตรกรประกันความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยเพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยแล้งและเพื่อคุ้มครองต้นทุนการผลิตที่ได้ลงทุนลงไป โดยการประกันภัยควรร่วมมือกับบริษัทประกันภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกษตรกรทำประกันภัยพืชผล โดยให้การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยบางส่วนแก่เกษตรกร เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยให้เกษตรกร และเพื่อจูงใจให้เกษตรกร บริษัทประกันภัยทำประกันภัยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการป้องกันความเสี่ยงภัยโดยเร่งขยายการจัดหาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้ง และส่งเสริมเกษตรกรให้ขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ในแต่ละปี ในขณะเดียวกันก็ควรนำปรัชญาในการบริหารทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานป้องกันความเสี่ยงภัยให้แก่เกษตรกรด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภาครัฐยังคงให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติทุกปี เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งนับว่ายังไม่เพียงพอและทั่วถึง หากคิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกรเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งการใช้แนวทางการระบบประกันภัยพืชผล จึงนับเป็นวิธีการหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง นางนารีณัฐ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ