สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี เผย ภาพรวมของไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2552 ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ ร้อยละ 10 ของปริมาณผลผลิต ด้าน เกษตรกรยังกังวลกับปัญหาเงาะล้นตลาดเหมือน แม้ปีนี้เงาะจะลดลงร้อยละ 20 ก็ตาม
นางสุวคนธ์ ทรงแสงธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) จังหวัดชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2552 ของ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด และระยอง โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 มีการสรุปผลการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการทั้งการสำรวจในพื้นที่และพิจารณาข้อมูลร่วมกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเขต 6 สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง โดยมีผลสรุปดังนี้ ทุเรียน ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2552 มีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 0.29 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.15 เนื้อที่ให้ผลประมาณ 0.27 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.54 และมีปริมาณผลผลิตโดยรวมประมาณ 0.34 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.23 ซึ่งลดลงจากปี 2551 โดยมีสาเหตุจากพื้นที่ทุเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ต้นทุเรียนจะเป็นโรคยืนต้นตายและมีด้วงเจาะต้น รวมทั้งมังคุดและลองกองที่ปลูกอยู่ใต้โคนต้นทุเรียนในสวนผสมมีทรงพุ่มใหญ่ขึ้น และยางพาราที่แซมอยู่ในร่องสวนทุเรียนก็โตขึ้นเช่นกัน เกษตรกรจึงต้องโค่นทุเรียนออกโดยเฉพาะพันธุ์ชะนี รวมทั้งผลผลิตต่อไร่ลดลงเพียงเล็กน้อยผลจากสภาพอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน มีฝนตก ลมแรงทำให้ดอกและลูกทุเรียนร่วง สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดช่วงพฤษภาคม ประมาณร้อยละ 69 ของผลผลิต
สำหรับ เงาะ ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2552 มีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 0.195 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.56 เนื้อที่ให้ผลประมาณ 0.188 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.41 และมีปริมาณผลผลิตโดยรวมประมาณ 0.23 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 19.76 ลดลงจากปี 2551 เนื่องจากมีเนื้อที่เงาะโค่นทิ้งจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุจากราคาผลผลิตตกต่ำอย่างต่อเนื่องจึงไม่จูงใจให้เกษตรกรผลิต รวมทั้งค่าแรงงานในการเก็บผลผลิตเงาะแพงขึ้น (กก.ละ 2 — 3 บาท) และแรงงานหายาก โดยพื้นที่ที่ลดลงปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และขนุน เพราะราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน และมีฝนตกติดต่อกันหลายวันในช่วงเงาะกำลังขึ้นลูก ทำให้ดอกเงาะร่วง และช่อดำ (ขี้คอก) สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงสิงหาคม โดยจะออกกระจุกตัวช่วงมิถุนายน ประมาณร้อยละ 58 ของผลผลิต
ด้าน มังคุด ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2552 มีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 0.20 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.72 เนื้อที่ให้ผลประมาณ 0.15 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.57 และมีปริมาณผลผลิตโดยรวมประมาณ 0.11 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 0.01 ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณผลผลิตโดยรวมใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และผลผลิตต่อไร่ลดลงไม่มากนักสาเหตุจากสภาพอากาศร้อนจัดสลับฝนตกทำให้มังคุดสลัดลูก สิ่งสำคัญคือ แรงงานเก็บมังคุดที่ค่อนข้างขาดแคลนและค่าจ้างเก็บผลผลิตที่ค่อนข้างสูง (กก.ละ 3 - 5 บาท) จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพมังคุด ถ้าเก็บมังคุดไม่ทันตามกำหนด สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม โดยจะออกกระจุกตัวช่วงพฤษภาคม ประมาณร้อยละ 69 ของผลผลิต ส่วน ลองกอง ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2552 มีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 0.12 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.01 และเนื้อที่ให้ผลจำนวน 0.09 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.62 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 แต่ผลผลิตต่อไร่ลดลง ทำให้มีปริมาณผลผลิตโดยรวมประมาณ 0.06 ล้านตัน ลดลงคิดเป็นร้อยละ 1.47 ถึงแม้เนื้อที่ให้ผลจะเพิ่มขึ้น แต่ทั้งจังหวัดจันทบุรีและระยองมีผลผลิตต่อไร่ลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากลองกองรุ่นแรกเจอสภาพอากาศหนาวเย็นจัดทำให้ชะงักการเจริญเติบโตของช่อดอก รวมทั้งรุ่นถัดมาเจอภาวะฝนตกทำให้ลองกองแตกใบอ่อน และไม่แทงช่อดอก สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงสิงหาคม โดยจะออกกระจุกตัวช่วงกรกฎาคม ประมาณร้อยละ 57 ของผลผลิต
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--