สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สรุปผลสัมมนาระดมความคิดเห็น ทางรอดผลไม้ไทยภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก เผย ส้มโอ มะพร้าว กล้วยไข่ สับปะรด มะม่วง และมะละกอ ยังไปได้สวย มีโอกาสมากในการแข่งขันภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก ด้านกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ 4 ด้าน ในการแก้ไขปัญหาแบบระยะยาวแล้ว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการจัดสัมมนาเรื่อง ทางรอดผลไม้ไทยภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในครั้งนี้โดยเฉพาะเกษตรกรและภาคเอกชน ได้ให้ข้อมูลเชิงลึก เพื่อที่ภาครัฐสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยสรุปผลไม้ที่สร้างโอกาสในการแข่งขันภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก แนวทางสร้างโอกาสของเกษตรกร ความต้องการนำเข้าของตลาดต่างประเทศ และกลไกที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ ในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
ผลไม้ที่สร้างโอกาสในการแข่งขันภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีโอกาสในการเพิ่มผลผลิตและขยายการส่งออกมากขึ้น ได้แก่ ส้มโอ มะพร้าว กล้วยไข่ สับปะรด มะม่วง และมะละกอ โดยที่ตลาดฮ่องกงและยุโรปมีความต้องการสูง สำหรับทุเรียนสามารถขยายการส่งออกได้แต่ยังคงมีปัญหาด้านผลผลิตกระจุกตัว ส่วนลำไยคุณภาพเกรด A และ B ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้ สำหรับส้มโอพันธุ์ขาวทองดี เป็นที่นิยมในตลาดไต้หวัน แต่ต้องการการเจรจาด้านการเปิดตลาด
แนวทางสร้างโอกาสของเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร ควรมีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวโดยปรับปรุงคุณภาพในฟาร์มเกษตรกร และคัดคุณภาพ ณ ศูนย์รวบรวมผลผลิต นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนควรกระตุ้นให้มีการบริโภคผลไม้ไทย ตลอดจนศึกษาวิจัยคุณค่าทางอาหารที่หลากหลาย และความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคแสดงให้ชาวต่างชาติทราบ
ความต้องการนำเข้าของต่างประเทศ ยังมีความต้องการนำเข้าผลไม้ไทย แม้ว่าบางประเทศความต้องการจะลดลงบ้าง เช่น ฮ่องกง มีการลดปริมาณนำเข้าประมาณร้อยละ 30 ประเทศจีนยังคงมีความต้องการผลไม้คุณภาพสูง และได้ลดการนำเข้าผลไม้คุณภาพต่ำ ประเทศเวียดนาม จะยังคงนำเข้าผลไม้ไทยในช่วง 1-3 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งพัฒนาการผลิตผลไม้เมืองร้อน และในอนาคตจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากภูมิอากาศของเวียดนามสามารถปลูกผลไม้เมืองร้อนได้ทุกชนิดเช่นเดียวกับไทย รวมทั้งได้มีความพยายามนำพันธุ์ผลไม้ของไทยบางชนิดไปเพาะปลูกแล้ว ส่วนในประเทศ กลุ่มสหภาพยุโรปมีความต้องการในภาพรวมลดลงประมาณร้อยละ 30 โดยผลไม้ที่ครองตลาด อยู่แล้วยังคงมีคำสั่งซื้อปกติ ด้านตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่สามารถรองรับผลไม้คุณภาพต่ำ ส่วนประเทศอินเดีย และปากีสถาน ยังคงต้องการให้มีการเจรจาระหว่างผู้ส่งออกและผู้นำเข้าด้านการชำระค่าสินค้า อย่างไรก็ดี ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีโอกาสมาก สามารถขยายการส่งออกได้เนื่องจากมีความต้องการสูง
ในส่วนของกลไกที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ ปัญหาใหญ่ของผลไม้ไทย คือ เมื่อผลผลิตมีปริมาณมากในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งควรจัดหาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ อย่างทั่วถึงในตลาดทุกระดับ และส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปเบื้องต้น โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือกลุ่มชาวสวนผลไม้ด้านปัจจัยการผลิต แนะนำแหล่งเงินทุน ในขณะเดียวกัน รัฐควรดูแลระบบการตลาดผลไม้เกรดรองที่มีผู้ค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาดำเนินการทางการตลาดโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมด้านราคามากขึ้น โดยทบทวนกฎหมายให้เกิดความยุติธรรมระหว่างผู้ส่งออกไทยและต่างชาติ อีกทั้งศึกษารายละเอียดในการขยายตลาดใหม่ โดยเฉพาะการเจาะตลาดที่ง่ายต่อการขยายสู่ประเทศใกล้เคียงหรือมณฑล ของประเทศจีนที่สามารถขยายสู่มณฑลอื่นได้ ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรใช้ประโยชน์จากเวทีความตกลง WTO และ FTA อาเซียน-จีน ในการส่งออกให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ควรร่วมมือวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมาตรการในการบริหารจัดการผลไม้ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพการผลิต พัฒนาตลาดภายในประเทศ พัฒนาตลาดส่งออก และจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเกษตรกรต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--