สศก.ประเมินผลกิจกรรมการแปรรูปผลผลิตเกษตรใน 3 จังหวัดภาคกลาง

ข่าวทั่วไป Friday April 3, 2009 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ลงพื้นที่ นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี ประเมินผลกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตร เผย เงินที่ได้รับการสนับสนุนช่วยให้การบริหารจัดการเงินทุนภายในกลุ่มคล่องตัวขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอในการที่จะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มระดับพื้นฐานแปรรูปผลผลิต ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการส่งทีมเจ้าหน้าออกสำรวจ โดยศูนย์ประเมินผล ลงพื้นที่ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตร ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรเกษตรกร ภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมุ่งสนับสนุนให้องค์กรหรือกลุ่มเกษตรกรในชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีความเข้าใจในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจนดำเนินการเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัวได้

          จากการสัมภาษณ์พร้อมทั้งสังเกตการณ์ พบว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ดำเนินกิจกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตร  จำนวน 12 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กลุ่มระดับพื้นฐานแปรรูปผลผลิต 5 กลุ่ม ที่ดำเนินการผลิตไข่เค็ม น้ำพริก  ทองม้วน  หมี่กรอบ  กล้วยฉาบ  และกล้วยม้วน  ซึ่งสินค้าดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทางการผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดี (GMP) ที่ทุกกลุ่มได้ผ่านการอบรมมาแล้ว  แต่ปัจจุบันจึงยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้าจากหน่วยงานใด และส่วนใหญ่กลุ่มจะนำเงินที่ได้รับการสนับสนุน 5,000  บาท  มาจัดทำฉลากแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อสินค้า ส่วนประกอบ สถานที่ผลิต เป็นต้น ทำให้สามารถเพิ่มโอกาสทางการตลาด มีคนนอกชุมชนรู้จักและมาอุดหนุนเพิ่มขึ้น  (2) กลุ่มระดับพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์  4  กลุ่ม  ซึ่งดำเนินการผลิตน้ำพริกคลุกข้าว งาดำสมุนไพรอบเกลือ กล้วยม้วน  และ            (3) กลุ่มระดับพัฒนาธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม ดำเนินการผลิตกระยาสารท คุกกี้  ขนมอลัว  และน้ำฝรั่ง  ซึ่งสินค้าจากทั้ง  2  กลุ่มนี้ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) แล้ว  สำหรับเงินสนับสนุนกิจกรรมกลุ่มที่แต่ละกลุ่มระดับได้รับคือ 20,000  และ 100,000  บาท  ตามลำดับ  ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มจะนำไปใช้เป็นเงินทุนสำรองเพื่อซื้อวัตถุดิบ ปรับปรุงโรงเรือนประกอบการ  และมีการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปฏิบัติจริงในเรื่องการปรับปรุงฉลาก / บรรจุภัณฑ์เดิมให้สวยงามและหลากหลายขึ้น  เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าจนสามารถเพิ่มปริมาณการผลิต  เพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้

โดยทุกกลุ่มมีความเห็นว่า เงินที่ได้รับการสนับสนุนช่วยให้การบริหารจัดการเงินทุนภายในกลุ่มคล่องตัวขึ้นบ้าง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มระดับพื้นฐานแปรรูปผลผลิตได้รับเงินสนับสนุนไม่เพียงพอในการที่จะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยปัจจัยที่จะทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จ คือ การมีส่วนร่วมและมีความตั้งใจจริงของสมาชิกภายในกลุ่ม การสนับสนุนให้คำแนะนำด้านการดำเนินธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตรต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ