สศข.7 ชี้ความต้องการใช้ที่ดินทำการเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday April 21, 2009 13:49 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 เผยความต้องการใช้ที่ดินทำการเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเช่าเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะในเขตชลประทานที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ในจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี แนะควรให้คณะกรรมการกำหนดค่าเช่าระดับจังหวัดดูแลให้เป็นธรรมแล เหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่าย เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ

          นายชวพฤฒ  อินทรเทศ   ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต  7 (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก  ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการผลิตและการส่งออกส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก  เมื่อส่งออกสินค้าไม่ได้  โรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการลงและเลิกจ้างแรงงาน  แรงงานบางคนต้องกลับท้องถิ่นเพื่อประกอบอาชีพการเกษตร ส่งผลให้ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีที่ดินของตนเอง  แต่อพยพเข้ามาทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม   เมื่อโรงงานปิดกิจการก็กลับไปทำนาในที่ดินของตนเอง     เกษตรกรผู้เช่ารายเดิมต้องการรักษานาเช่าไว้เหมือนเดิมจึงเพิ่มค่าเช่าให้เจ้าของที่นา  ทำให้ค่าเช่าที่ดินมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในเขตชลประทานที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ในเขตจังหวัดชัยนาท       และสุพรรณบุรี

ขณะเดียวกันเจ้าของที่ดินบางรายที่คิดค่าเช่าเป็นผลผลิตจะพยายามรักษารายได้ให้คงเดิม จากการที่ราคาข้าวตกต่ำในปีนี้ก็ยังคงเรียกเก็บค่าเช่าเป็นผลผลิตในอัตราที่เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับรายได้ให้คงเดิม โดยเพิ่มอัตราส่วนเก็บค่าเช่าในสัดส่วนที่สูงขึ้น จากเดิมที่เคยเก็บอัตราค่าเช่าเป็นผลผลิตร้อยละ 10-15 ของผลผลิตที่ได้รับในแต่ละรุ่น ก็เปลี่ยนมาเป็นร้อยละ 15-20 และส่วนใหญ่จะคิดในอัตราร้อยละ 20 ขณะที่ผลผลิตข้าวที่เกษตรกรผลิตได้ในเขตชลประทานในแต่ละรุ่นประมาณ 800 - 1,000 กิโลกรัม / ไร่ ซึ่งราคาข้าวขณะนี้เฉลี่ยตันละ 9,500-10,500 บาท ผลคือเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตไม่แตกต่างจากเดิมเท่าใดนัก จากการที่ปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและวัชพืชมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทานเฉลี่ยไร่ละ 6,600 - 7,000 บาท มีผลให้รายได้สุทธิของเกษตรกรมีแนวโน้มลดลงตามราคาข้าวไปด้วย

          นายชวพฤฒ  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น ควรให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการ ประมงจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด            เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ผู้แทน ผู้เช่าประจำจังหวัด กำหนดค่าเช่าระดับจังหวัดดูแลการคิดให้เป็นธรรมและเหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่าย  พร้อมติดตามกำกับให้เกิดผล  เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ