สศข.6 ติดตาม 7 ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดจันทบุรี

ข่าวทั่วไป Tuesday May 19, 2009 15:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.6 ออกติดตามการดำเนินงาน 7 ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ปี 52 จ.จันทบุรี ในไตรมาส 2 เผย มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ แล้ว 61 แห่ง อบรมเกษตรกรแล้ว 535 ราย แนะ ควรบูรณาการด้านแผนและงบประมาณ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในบางกิจกรรม และร่วมพัฒนายกระดับศูนย์เรียนรู้อย่างครบองค์รวม นางสุวคนธ์ ทรงแสงธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) จังหวัดชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ ของทุกจังหวัด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชนโดยให้เกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้และเพิ่มทักษะอาชีพการเกษตรร่วมกัน ภายใต้การทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับไตรมาส 2 นี้ ทาง สศข.6 ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ปี 2552 ของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมี 7 หน่วยงานหลักในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมจังหวัดจันทบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดจันทบุรี สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี และนิคมสหกรณ์โป่งน้ำร้อน โดยมีสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จันทบุรีสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ในการทำบัญชีครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง และอีกหลายหน่วยงานราชการในจังหวัด ร่วมบูรณาการดำเนินโครงการต่างๆ ที่สอดรับโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

จากผลการติดตามโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ ปี 2552 ณ สิ้นสุดไตรมาส 2 พบว่า แต่ละหน่วยงานมีการจัดตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ เรียบร้อยแล้ว 61 แห่ง ได้ดำเนินการอบรมเกษตรกรแล้ว 535 ราย หรือประมาณร้อยละ 10.41 ของเป้าหมายทั้งสิ้น 5,140 ราย โดยมีโครงการของนิคมสหกรณ์โป่งน้ำร้อนดำเนินการอบรมเกษตรกรเสร็จสิ้นแล้ว รองลงมาได้แก่ โครงการของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดจันทบุรี และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดจันทบุรี เริ่มดำเนินการอบรมเกษตรกรไปแล้วบางส่วน ส่วนหน่วยงานที่เหลือ อยู่ระหว่างการคัดเลือกเกษตรกรและเตรียมความพร้อมของศูนย์เรียนรู้ตามหลักสูตรที่กำหนด เพื่ออบรมในไตรมาสที่ 3 สำหรับงบประมาณ พบว่าได้รับเพียงพอ โดยเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 1.07 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.19 ของงบประมาณทั้งหมด 2.81 ล้านบาท คาดว่าภายในไตรมาส 3 จะอบรมเกษตรกรได้ครบตามเป้าหมาย

ด้านอุปสรรคในการดำเนินการเชิงบูรณาการร่วมกัน ส่วนใหญ่ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ยังผ่านตัวบุคคลมากกว่าผ่านสื่อ และการติดตามนิเทศงานในแปลงเกษตรกร ค่อนข้างจำกัด โดยผลสำรวจยังพบว่าควรบูรณาการด้านแผนงานและงบประมาณระดับจังหวัด เพื่อลดความซ้ำซ้อนในบางกิจกรรม และร่วมพัฒนายกระดับศูนย์เรียนรู้ที่มีศักยภาพสามารถถ่ายทอดความรู้อย่างครบองค์รวมให้เป็นศูนย์หลัก ส่วนศูนย์เรียนรู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเรื่องให้เป็นศูนย์เครือข่ายที่เน้นหลักสูตรฝึกปฏิบัติที่เข้มข้นตามความต้องการของเกษตรกร นางสุวคนธ์ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ