สศก. เผยตลาดญี่ปุ่นซบเซา แนะผู้ส่งออกซูริมิไทยหาตลาดพร้อมคิดผลิตภัณฑ์ใหม่

ข่าวทั่วไป Monday May 25, 2009 14:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยตลาดเนื้อปลาซูริมิญี่ปุ่นหงอย หลังทิศทางตลาดหดตัวร้อยละ 5 ต่อปี        แนะผู้ส่งออกมองหาตลาดหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นตลาด ทั้งนี้จำเป็นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เพื่อรับการแข่งขันจากจีน อินเดีย ชิลี และเวียดนาม

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ซูริมิ เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เพิ่มมูลค่าทำจากเนื้อปลา เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ปลาเส้น เนื้อปลาเทียม เนื้อปูเทียม หรือปูอัด เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นอาหารที่พัฒนาขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ใช้วัตถุดิบจากปลาทะเลที่มีเนื้อขาวและราคาไม่แพงมากนัก เช่น ปลาทรายแดง ปลาตาโต ปลาดาบลาว ปลาตาหวานและปลาข้างเหลือง เป็นต้น โดยปริมาณการผลิตซูริมิของโลกเฉลี่ยประมาณ 550,000 — 600,000 ตันต่อปี แบ่งเกรดคุณภาพตามปลาที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริโภคซูริมิและผลิตภัณฑ์มากที่สุดในโลก ประมาณ 400,000 ตันต่อปี ในขณะที่ผลิตได้เพียง 110,000 ตันต่อปีเท่านั้น ที่เหลือนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ไทย และอาร์เจนตินา

สำหรับซูริมิเริ่มผลิตในประเทศไทยมากว่า 20 ปีแล้ว มีโรงงานผลิต 126 โรง กำลังการผลิตรวมปริมาณ 150,000 ตันต่อปี และยังคงสามารถขยายกำลังการผลิตได้อีก ซูริมิที่ผลิตในประเทศเกือบทั้งหมดส่งออกการบริโภคภายในมีเพียง 50 ตันต่อปี เนื่องจากได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกซูริมิและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ความต้องการซูริมิและผลิตภัณฑ์ของไทยมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นอาหารทะเลที่มีราคาไม่แพงเมื่อเปรียบกับอาหารทะเลชนิดอื่น ๆ และมีไขมันต่ำจัดว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

ในปี 2551 มีปริมาณการส่งออกซูริมิของไทยไปประเทศหลักที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 29.03 ฮ่องกง ร้อยละ 28.76 รองลงมาคือ ออสเตรเลียมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 7.15 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 6.04 ของปริมาณการส่งออกของไทยทั้งหมด แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2545 — 2549) ญี่ปุ่นนำเข้าปริมาณปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง (ซึ่งส่วนหนึ่งนำไปทำซูริมิ) จากไทยมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 5.44 ต่อปี จาก 81,535 ตัน ของปี 2545 เหลือ 68,592 ตันในปี 2549 ต่อมาในปี 2550 ได้มีการปรับปรุงพิกัด แยกออกเป็น 2 พิกัด เป็นเนื้อปลาซูริมิ (แปรรูป) และเนื้อปลาซูริมิ

โดยในปี 2551 ไทยส่งออกเนื้อปลาซูริมิรวมทั้งสองพิกัดไปญี่ปุ่นเป็นปริมาณ 10,243.48 ตัน มูลค่า 1,069.62 ล้านบาท ลดลงจาก 15,244.66 ตัน แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 673.32 ล้านบาท ของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 32.81 และ 16.51 ตามลำดับ เนื่องจากรสนิยมการบริโภคของวัยรุ่นชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปบริโภคอาหารแบบชาวตะวันตกมากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอย ทำให้ชาวญี่ปุ่นบริโภคอาหารนอกบ้านลดลง ส่งผลให้การนำเข้าเนื้อปลาซูริมิจากไทยลดลง นอกจากนี้ไทยมีประเทศคู่แข่งที่สำคัญได้แก่ จีน อินเดีย ชิลี และเวียดนาม

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายเพื่อเลือกสรร และมองหาตลาดใหม่ๆ เช่น รัสเซีย และสหภาพยุโรป เร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง โดยใช้วัตถุดิบที่เหลือทิ้งให้น้อยที่สุด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้คนไทยยอมรับซูริมิและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศมากขึ้น นางนารีณัฐ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ