สศข.6 เชื่อมเครือข่ายกรมส่งเสริม เคาะตัวเลขข้อมูลมะม่วงภาคตะวันออก

ข่าวทั่วไป Monday May 25, 2009 14:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 จับมือ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ. ระยอง จัดทำข้อมูลเอกภาพมะม่วง ผลสำรวจ พบ ปี 52 ภาคตะวันออก มีเนื้อที่มะม่วงยืนต้นและปริมาณผลผลิตลดลง เหตุจากเกษตรกรโค่นต้นมะม่วงทิ้งเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน บวกกับ สภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ดอกร่วงเสียหาย มีโรคแมลงรบกวน ทำให้ผลผลิตลดลง

นางสุวคนธ์ ทรงแสงธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) จังหวัดชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดทำข้อมูลเอกภาพมะม่วงโดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันบูรณาการจัดทำข้อมูลไม้ผลเอกภาพภาคตะวันออก จัดทำข้อมูลเอกภาพทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง มาแล้ว

โดยการจัดทำข้อมูลเอกภาพมะม่วงครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือกันอีกครั้ง ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม -เมษายน 2552 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 จังหวัดชลบุรี และกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (สสข.3) จังหวัดระยอง รวมทั้งสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว ได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อจัดเก็บข้อมูลปริมาณการผลิตมะม่วงภาคตะวันออก โดยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัวเลขผลการสำรวจ ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และที่ประชุมได้ผลพิจารณาร่วมกัน ดังนี้

ปี 2552 ในภาคตะวันออก มีเนื้อที่มะม่วงยืนต้น 160,546 ไร่ ลดลงจากปี 2551 จำนวน 3,733 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.27 ส่วนเนื้อที่ให้ผล 149,176 ไร่ ลดลงจำนวน 8,198 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.21 มีปริมาณผลผลิตรวมทั้งหมด 84,238 ตัน ลดลงจำนวน 33,190 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.26 และผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 565 กิโลกรัม ลดลงจำนวน 181 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 24.32 โดยผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 ถึงร้อยละ 31.40 และ 45.64

ซึ่งสาเหตุที่เนื้อที่มะม่วงยืนต้นลดลงเนื่องจากมีการโค่นต้นมะม่วงทิ้งเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น มันสำปะหลัง เป็นต้น กอปรกับราคาผลผลิตมะม่วงไม่จูงใจ ส่วนผลผลิตลดลงเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในช่วงของการออกดอก เกิดความแปรปรวนของอากาศและมีฝนตก ทำให้ดอกร่วงเสียหาย อีกทั้งยังมีโรคแมลงรบกวน จึงเป็นสาเหตุให้ผลผลิตลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ