1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(29 เม.ย.- 6 พ.ค. 2552) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,084.84 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 607.92 ตัน สัตว์น้ำจืด 476.92 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.79 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.16 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 112.26 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.72 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 104.77 ตัน
การตลาด
เอฟเอโอดันไทยต้นแบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ
นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู) โครงการสร้างระบบรับรองเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำขนาดเล็กในประเทศ ระหว่างกรมประมง กับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ)ว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงอันดับต้นๆของโลกปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยสินค้าประมงต้องผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มก่อนส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาฟาร์มขนาดใหญ่จะได้รับการรับรอง ขณะที่ฟาร์มขนาดเล็กจำนวนมากยังไม่มีการรับรอง เพราะกรมประมงมีงบประมาณจำกัด และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ในอนาคต ฟาร์มขนาดเล็กจะมีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกสินค้าประมงและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ความปลอดภัยด้านอาหารหรือฟู้ดเซฟตี้ กรมประมงจึงร่วมกับเอฟเอโอพัฒนากลไกและโครงสร้างรับรองเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำขนาดเล็กให้เข้าถึงตลาด และเกิดความยั่งยืนในการเพาะเลี้ยง ซึ่งกลไกนี้สามารถขยายไปยังประเทศอื่นๆในอาเซียนได้อีกด้วย
นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกว่า 1.5 แสนฟาร์ม แบ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้ง 3 หมื่นฟาร์มและฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอีก 1 แสนฟาร์ม โดยฟาร์มกุ้งปัจจุบันได้มาตรฐานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีและเหมาะสม(จีเอพี)แล้ว ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นยังไม่ได้มาตรฐานจีเอพี เพราะส่วนใหญ่เป็นฟาร์มรายย่อย ดังนั้น กรมประมงจะเปลี่ยนรูปแบบการรับรองจากรายฟาร์มเป็นฟาร์มกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่และมีขนาดใกล้เคียงกันหรือเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดเดียวกัน วิธีนี้จะทำให้กรมประมงรับรองมาตรฐานฟาร์มได้ง่าย ค่าใช้จ่ายลดลง และสะดวกต่อการตรวจรับรองของเอกชนจากต่างประเทศ เพราะปัจจุบันผู้นำเข้าเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเตรียมพร้อมเรื่องนี้ จึงต้องเร่งดำเนินการล่วงหน้า คาดว่าจะพัฒนาให้เข้าสู่มาตรฐาน จีเอพี ได้ไม่ยาก
นายฮิโรยูกิ โคนุมะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเอฟเอโอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะใช้เวลา 17 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ใช้งบประมาณ 3.63 แสนดอลลาร์หรือประมาณ 17 ล้านบาท โดยเอฟเอโอจะใช้โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบสำหรับชาติอื่นๆ ในอาเซียน เพราะไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และไทยยังเป็นประธานอาเซียน จึงเชื่อว่าไทยจะเป็นต้นแบบและเผยแพร่มาตรฐานการรับรองฟาร์มที่ดีแก่ประเทศอื่นๆ ด้วย
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.35 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 37.43 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 6.92 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 64.08 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 63.77 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.31 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 109.12 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 111.07 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.95 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 102.50 บาทลดลงจากกิโลกรัมละ 108.33 บาท ของสัปดาห์ก่อน 5.83 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.63 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.13 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60%(ระหว่างวันที่ 23 - 29 พ.ค.2552) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 34.07 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.34 ของสัปดาห์ก่อน 0.27 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม 2552--