สศก.จัดสัมมนาการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday June 8, 2009 13:54 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระดมพลจากทุกภาคส่วนจัดสัมมนาการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานอย่างยั่งยืน ในการกำหนดทิศทางและอนาคตของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เผยรัฐบาลเมืองเบียร์โดย GTZ จะให้ความช่วยเหลือไทยในการดำเนินการอีก 3 ปีข้างหน้า หวังให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมเสนอข้อคิดเห็น ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอย่างสูงสุด

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานอย่างยั่งยืน เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ว่าจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้นานาประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำมันไบโอดีเซลแทนน้ำมันดีเซล น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบที่มีราคาต่ำสุดในการนำมาใช้ผลิตไบโอดีเซล เมื่อเทียบกับน้ำมันพืช เช่น ถั่วเหลือง ทานตะวัน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมัน จึงได้มีการขยายพื้นที่ปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ซึ่งปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก

การปลูกปาล์มน้ำมันของไทยมีความแตกต่างกับประเทศอันดับหนึ่ง (อินโดนีเซีย) อันดับสอง (มาเลเซีย) คือเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเกษตรกรรายย่อยมิใช่ปัญหาในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาคือจะจัดการผลิตอย่างไรให้เกษตรกรรายย่อยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และแข่งขันกับน้ำมันปาล์มในตลาดโลก RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil Production) เป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศผู้นำเข้า ไทยอาจได้เปรียบประเทศอื่นที่ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อนำมาปลูกปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจุบันไทยมิใช่ผู้ส่งออกหลัก แต่ไทยก็ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่มีน้ำมันปาล์มเป็นองค์ประกอบ ดังนั้น ความจำเป็นในการปฏิบัติตาม RSPO คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกระทรวงสิ่งแวดล้อมการอนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยนิวเคลียร์ (BMU) โดยสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการประเทศเยอรมนี (GTZ) ระยะเวลาโครงการ 3 ปี จึงเป็นมิติใหม่ที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันกำหนดทิศทางและอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ในเวทีการค้าโลก ดังนั้น ขอให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งเกษตรกร ร่วมมือกันและผลักดันให้โครงการสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ