สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ชี้ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนากระบวนการดำเนินกิจการและมีเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจ พร้อมผลประกอบการที่ดีและรายได้ที่เพิ่มขึ้น แนะควรให้มีการสนับสนุนจัดหาผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ มาถ่ายทอดความรู้ให้ผู้บริหาร และสมาชิกวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการขยายตลาดหรือขยายการผลิตแบบพึ่งพาตนเองด้วย
นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินผลโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนต้นแบบในปี 2551 ในพื้นที่ 19 จังหวัด จำนวน 59 กลุ่ม โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ พบว่า การสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน โดยการจัดเวทีเรียนรู้ให้อย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้วิสาหกิจชุมชนได้เรียนรู้ถึงจุดแข็งหรือข้อดีของตนเองถึงร้อยละ 98.31 จุดอ่อนร้อยละ 96.61 ส่วนกลุ่มที่ไม่รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองมีเพียงร้อยละ 1.69 และร้อยละ 3.39 เท่านั้น
โดยนายนิพนธ์ ดิลกคุณานันท์ ผู้อำนวยศูนย์ประเมินผล สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่รู้จุดอ่อนและได้นำจุดอ่อนนั้นมาปรับปรุงแก้ไข คิดเป็นร้อยละ 70.18 นอกจากการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวแล้ว วิสาหกิจชุมชนยังได้พัฒนากระบวนการดำเนินกิจการในด้านการจัดทำแผนธุรกิจ การจัดทำบัญชี การคิดต้นทุนสินค้า ฯลฯ และมีเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจกับวิสาหกิจชุมชนอื่น คิดเป็นร้อยละ 74.58 มีผลทำให้ผลประกอบการของกลุ่มดีขึ้น ทั้งในด้านแหล่งจำหน่ายเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ และมีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยถึงแห่งละ 673,602 บาทต่อปี นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนยังได้รับประโยชน์จากการเป็นแหล่งเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างกันเองด้วย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนยังประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น กลุ่มขาดผู้ชำนาญการด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ขาดประสบการณ์ด้านการตลาดและการผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งเรื่องนี้ สศก. จะได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการสนับสนุนจัดหาผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ และมีประสบการณ์ที่เป็นมืออาชีพ มาถ่ายทอดความรู้ให้ผู้บริหาร และสมาชิกวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการขยายตลาดหรือขยายการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง และผลิตสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ให้มีคุณภาพดีเทียบเท่าสินค้าในท้องตลาด (เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน) และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อขายให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งสมาชิกในกลุ่มด้วย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--