สศก.เผยผลการศึกษากลยุทธ์การขยายตลาดข้าวอินทรีย์ภายในประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday July 9, 2009 14:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการศึกษาตลาดข้าวอินทรีย์ในประเทศ พบมาตรฐานและความเชื่อมั่นของกลุ่มลูกค้ามีความสำคัญ รวมถึงการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญกว่าการใช้แรงผลักดันจากราคา ชี้จำเป็นต้องพัฒนาระบบตลาดสินค้าอินทรีย์เพื่อรองรับข้าวอินทรีย์ที่ยังอยู่ในระบบปรับเปลี่ยนจากการผลิตแบบปกติเป็นอินทรีย์ เพื่อให้ตลาดสินค้าอินทรีย์ในประเทศสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรได้ศึกษาตัวอย่างเกษตรกรที่ทำตลาดข้าวอินทรีย์ ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออกนั้น พบว่ากลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนากลุ่มเกษตรกรข้าวอินทรีย์มี 6 กลยุทธ์ ได้แก่

1) กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ต่อผู้บริโภคภายในประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีความเชื่อมั่นต่อสินค้าอินทรีย์ ตลอดจนมีความเชื่อมั่นในระบบมาตรฐานตรวจสอบสินค้าอินทรีย์ของประเทศ

2) กลยุทธ์ส่งเสริมระบบการตลาดในประเทศ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำการผลิตข้าวอินทรีย์แต่ยังไม่เข้าระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เข้าระบบมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ที่มีต้นทุนในการตรวจสอบต่ำเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบตลาดข้าวอินทรีย์ภายในประเทศได้ และสร้างระบบตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถนำสินค้าไปจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาสินค้าเกษตรทั่วไป และพยายามหาช่องทางการกระจายสินค้าใหม่ๆ ตลอดจนการสร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงจัดตั้งให้มีองค์กรพัฒนาการค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลาง ให้การบริหารจัดการพัฒนาการค้าเกษตรอินทรีย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3) กลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรข้าวอินทรีย์ ได้แก่ การสนับสนุนระบบสหกรณ์กลุ่มข้าวอินทรีย์ให้เข้มแข็ง การขยายการรับสมาชิกเกษตรกร การสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาการจัดการของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพรวมถึงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ ควรใช้เรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มากกว่าด้านราคา

4) กลยุทธ์พัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรข้าวอินทรีย์ ได้แก่ การพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการแก่กลุ่มเกษตรกร การสร้างเครือข่ายความรู้เทคโนโลยีการผลิต

5) กลยุทธ์พัฒนาหน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยภาครัฐควรให้การสนับสนุนพัฒนามาตรฐานและประชาสัมพันธ์หน่วยงานรับรองภายในประเทศให้ผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศยอมรับ ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานรับรองเอกชนภายในประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน

6) กลยุทธ์การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต โดยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเกษตรอินทรีย์ตลอดจนพัฒนาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ข้าว ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ตลอดจนมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทำการแปรรูปข้าวอินทรีย์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการขยายตัวในสายผลิตภัณฑ์เดิม

อย่างไรก็ตามการดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีการติดตามงานและส่งเสริมจากภาครัฐตลอดจนความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมถึงการจัดตั้งองค์กรพัฒนาการค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารจัดการและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรอินทรีย์ของประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายอภิชาต กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ