สศก. หวั่นเพลี้ยระบาดซ้ำทำผลผลิตมันสำปะหลังวูบ

ข่าวทั่วไป Thursday July 9, 2009 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการติดตามสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง พบแปลงมันอายุน้อย 1-4 เดือน ถูกไถต้นทิ้งแล้ว และบางส่วนยังรอการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่เพื่อจ่ายเงินชดเชย ขณะที่แปลงมันสำปะหลังอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่รอเก็บเกี่ยวซึ่งยังคงมีเพลี้ยอาศัยอยู่ ชี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นแหล่งกระจายและระบาดที่สำคัญหากกระทบแล้ง ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2553 ลดลงได้ แนะเกษตรกรดูแลใกล้ชิดเพื่อป้องกันการระบาด

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2551/52 พบการระบาดในแหล่งปลูกมันสำปะหลังตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 พื้นที่ระบาดของเพลี้ยแป้งได้กระจายเป็นวงกว้างมากกว่า 1.4 ล้านไร่ใน 18 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์ระบาดได้ลดความรุนแรงลงแล้ว เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการป้องกันกำจัด ประกอบกับมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณของเพลี้ยแป้งลดลง

สำหรับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังมีพื้นที่ระบาดรุนแรงประมาณ 250,000 ไร่ ในจังหวัดสำคัญ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี กำแพงเพชร พิษณุโลก ชลบุรี และสระแก้ว ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรด้วย สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการชดเชยแล้ว บางส่วนได้เปลี่ยนไปปลูกข้าวโพด แต่บางส่วนที่ยังยืนยันที่จะปลูกมันสำปะหลัง จะต้องหาต้นพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง รวมทั้งแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีไทอะมิโทแชมก่อนปลูก

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่เริ่มปลูกมันสำปะหลังในระยะระบาดของเพลี้ย โดยมีการป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง และต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ดีนั้น เกษตรกรยังจำเป็นต้องระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกัน มิให้เพลี้ยแป้งระบาดซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระบาดที่บริเวณใกล้เคียงยังมีต้นมันสำปะหลังอายุรอเก็บเกี่ยวเหลืออยู่ พบว่ายังมีเพลี้ยแป้งอาศัยอยู่ตามลำต้น ซึ่งบางพื้นที่ไม่มีฝนตกมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ภาวะแล้งเช่นนี้อาจทำให้มีการระบาดของเพลี้ยแป้งซ้ำขึ้นอีกได้ สำหรับเกษตรกรบางรายที่ได้ตัดทำลายต้นมันสำปะหลังและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว พบว่าหัวมันมีขนาดเล็ก ปริมาณผลผลิตลดลง 30-50% จากปีปกติและเปอร์เซ็นต์แป้งลดลงเหลือเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยวและรอการประเมินความช่วยเหลือของภาครัฐ

ซึ่งผลจากการระบาดของเพลี้ยแป้งจะทำให้การเก็บเกี่ยวหัวมันในพื้นที่ระบาดล่าช้ากว่าปีปกติ เนื่องจากต้นมันสำปะหลังสูญเสียการสะสมแป้งในหัวมัน และมีการปลูกซ่อมในพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการระบาดซ้ำ อันจะส่งผลต่อเนื่องให้ผลผลิตของปี 2553 ลดลงจากที่ประมาณการไว้ นายอภิชาต กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ