สศข.8 ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ออกสำรวจข้อมูล เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง พบ แม้เนื้อที่ปลูกและเนื้อที่ให้ผลจะลดลง แต่ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เผย ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนสิงหาคมนี้ เตรียมเร่งฟื้นระบายผลผลิตออกสู่ตลาด ด้าน คชก. ไฟเขียวแล้ว 376 ล้านบาท ให้แต่ละจังหวัดมาดำเนินการตามแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2552
นายมนตรี เมืองพรหม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 (สศข.8) จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงความร่วมมือกันระหว่าง สศข.8 กับสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง และชุมพร ซึ่งได้ร่วมกันออกสำรวจข้อมูลไม้ผล 4 ชนิด คือ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 โดยผลการสำรวจทั้ง 7 จังหวัด พบว่า เงาะ มีเนื้อที่ยืนต้น 114,606 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 112,238 ไร่ ให้ผลผลิต 106,639 ตัน ส่วนทุเรียน มีเนื้อที่ยืนต้น 223,896 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 209,831 ไร่ ให้ผลผลิต 219,465 ตัน สำหรับมังคุด มีเนื้อที่ยืนต้น 221,681 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 191,574 ไร่ ให้ผลผลิต 126,368 ตัน และลองกอง มีเนื้อที่ยืนต้น 120,503 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 95,183 ไร่ ให้ผลผลิต 27,668 ตัน
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2551 พบว่า เงาะ มีเนื้อที่ยืนต้นลดลง ร้อยละ 11.30 เนื้อที่ให้ผลลดลงร้อยละ 11.58 แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.49 ส่วนทุเรียน มีเนื้อที่ยืนต้นลดลงร้อยละ 5.71 เนื้อที่ให้ผลลดลงร้อยละ 5.42 มีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.41 สำหรับมังคุด มีเนื้อที่ยืนต้นลดลงร้อยละ 2.54 เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 144.68 และลองกอง มีเนื้อที่ยืนต้นลดลงร้อยละ 0.76 เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.90 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 105.31 โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดพร้อมกันมากในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 27.99 และจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม ร้อยละ 35.12 ซึ่งในช่วงระหว่างนี้ ทางภาคเหนือจะมีลำไยออกมาพร้อมด้วยเช่นกัน จึงคาดว่าอาจจะมีผลทำให้ผลไม้ทั้ง 4 ชนิดมีแนวโน้มราคาที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ทาง สศข.8 และทุกหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 7 จังหวัด ได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการระบายผลผลิตออกสู่ตลาดด้วยกลไกตลาดตามปกติ ไม่มีการแทรกแซงราคา โดยการส่งเสริมการขายตลาดริมทาง ตลาดสหกรณ์การเกษตร ตลาดลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ตลาดพ่อค้าเอกชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การแปรรูปและการส่งออกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดมากที่สุดในเดือน สิงหาคมนี้ นอกจากนี้แต่ละจังหวัดได้ดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มาดำเนินการตามแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2552 จำนวน 376 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อถึงกำหนด ขณะเดียวกันบางจังหวัดได้สั่งการให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตั้งงบประมาณร้อยละ 10 ของผลผลิต ในท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดมาก เพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำอีกด้วย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--