ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Friday July 24, 2009 15:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552

เป้าหมายรับจำนำ จำนวน 6 ล้านตันข้าวเปลือก

ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-31 ก.ค. 52 (ยกเว้นภาคใต้ ก.ค.-ก.ย. 52)

ราคารับจำนำ ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาตันละ 11,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 11,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 11,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25%

ตันละ 10,800 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% (คละ) ตันละ 9,000 บาท และจากมติ กขช. เมื่อวันที่ 29 เมย. 52 เพิ่มราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) ราคาตันละ 10,000 บาท (ซึ่งเป็นข้าวเหนียวคุณภาพดีส่วนใหญ่ปลูกในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา เป็นต้น)

ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.- 18 ก.ค.52 มี ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำ 4,599,330 ตัน คิดเป็นร้อยละ 76.66 ของเป้าหมายที่รับจำนำ โดยมีรายละเอียด ดัง นี้

จำนวนจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ

  จำนวนจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ                 -------------ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำสะสม (ตัน)-----------
                                              ข้าวเจ้า     ข้าวปทุมธานี     ข้าวเหนียว      รวมข้าวทุกชนิด
 ภาคเหนือ                      14 จังหวัด     1,771,428        27,333       33,322        1,832,083
 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ           11 จังหวัด       154,735             -        9,125          163,860
 ภาคกลาง                      20 จังหวัด     2,018,966       584,421            -        2,603,387
 รวม                          45 จังหวัด     3,945,129       611,754       42,447        4,599,330

ที่มา : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

1.2 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52

เป้าหมายรับจำนำ จำนวน 8 ล้านตันข้าวเปลือก

ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. — 28 ก.พ.52 (ยกเว้นภาคใต้ 1 ก.พ.-28 พ.ค.52)

ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนทีรับจำนำทั้งจำนำใบประทวน และจำนำยุ้งฉาง

ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 51 - 19 ก.ค. 52 ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำ 6,060,044 ตัน คิดเป็นร้อยละ 75.75 ของเป้าหมายที่รับจำนำ และปริมาณการไถ่ถอน 69,832 ตัน

-------------------- ผลการดำเนินงาน (ตัน)-----------------

          ประเภทจำนำ       ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำ   ปริมาณข้าวเปลือกที่ไถ่ถอน        คงเหลือ
          จำนำยุ้งฉาง               699,547              63,053                636,494
          ประทวน อคส.           4,090,585               4,144              4,086,440
          ประทวน อ.ต.ก.         1,269,913               2,635              1,267,278
                 รวม            6,060,044              69,832              5,990,212

ที่มา : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ภาวะการซื้อขาย ข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้และราคาขายส่งตลาดกรุงเทพฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูผลผลิตมีน้อย แต่ผู้ส่งออกมีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าจึงเสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และส่งผลให้เกษตรกรมีการไถ่ถอนเพื่อขายให้โรงสีโดยมีกำไรส่วนต่างเล็กน้อยบ้างแล้ว ส่วนราคาตลาดส่งออกยังคงทรงตัวเนื่องจากอินเดียเริ่มมีข้าวเกินต้องการมาก จึงได้ทะยอยขายข้าวที่ไม่ใช่บัสมาติแก่ลูกค้าในแอฟริกามากขึ้น ส่งผลให้ตลาดข้าวในต่างประเทศ ไม่เคลื่อนไหวมากนัก เพราะมีทางเลือกมากขึ้น

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 10 กรกฏาคม 2552 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 4 , 614,949 ตันข้าวสาร ลดลงจาก 6,283,528 ตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.56 (ที่มา : กรมการค้าภายใน)

1.3 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,522 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,361 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.20

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5 % ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,314 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,402 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.85

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,212 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,188 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.33

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ความชื้น 14-15 % ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,325 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,317 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% ( ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 17,650 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.25

ราคาส่งออก เอฟ . โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 2 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 945 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,996 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 9 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 823 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,865 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5 % (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 559 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18 ,927 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 5 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25 % (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 462 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,643 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 4 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5 % ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 638 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,602 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 6 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.8584 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 25 52/53 ประจำเดือนกรกฏาคม 2552 ว่าจะมี 448.98 ล้านตันข้าวสาร (669.80 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 444.72 ล้านตันข้าวสาร (663.20 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2551/52 ร้อยละ 0.96 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บราซิล พม่า กัมพูชา จีน อินเดีย ไนจีเรีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

2.2 การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2552/53 ณ เดือนกรกฏาคม 2552 ว่าผลผลิต ปี 2552/53 จะมี 448.98 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.96 การใช้ในประเทศจะมี 443.42 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 1.69 การส่งออก/นำเข้าจะมี 30.12 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.93 และสต็อกปลายปี คงเหลือ 94.51 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.26

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา จีน อียิปต์ และอินเดีย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล กัมพูชา ปากีสถาน เวียดนาม อียู และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล คิวบา เม็กซิโก อิรัก จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ อียู และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ

2.3 พม่าเพิ่มปริมาณส่งออกข้าวสิ้นปีนี้ 2 เท่า

Aung Than Oo ประธานสมาคมค้าข้าวและข้าวเปลือกของพม่า( Myanmar Rice and Paddy Traders' Association )เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกของปีนี้พม่าส่งออกข้าวแล้วกว่า 500,000 ตันและคาดว่าจะส่งออกข้าวอย่างน้อย 1 ล้านตันในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวนั้นจะสามารถส่งออกข้าวเฉพาะข้าวที่เป็นส่วนเกินจากการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นการกำหนดโดยรัฐบาลพม่าที่ต้องการสร้างความมั่นคงด้านอาหารหลักของชาติอย่างข้าว

จากสถิติของสมาคมฯ ระบุว่า ปี 2550-51 พม่ามีรายได้จากการส่งออกข้าว 103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และรายได้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาหรือปี 2551-52 ซึ่งพม่าส่งออกข้าว 700,000 ตัน ทำเงินสูงถึง 201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของพม่า ได้แก่ ประเทศบังกลาเทศ แอฟริกาใต้ และไอวอรี่ โคสต์ ในปีที่ผ่านมาหรือ ปี 2551-52 ประเทศในแถบแอฟริกานำเข้าข้าวพม่าร้อยละ 56 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดและร้อยละ 41 ส่งออกไปยังประเทศในแถบอาเซียน เช่น บังกลาเทศ สิงคโปร์ อินเดีย มาเลเซียและศรีลังกา

ถึงแม้ว่า ปริมาณการส่งออกข้าวของพม่าเพิ่มขึ้นแต่ราคาข้าวของพม่าในตลาดโลกนั้นยังต่ำกว่าราคาข้าวของประเทศไทยและเวียดนาม เนื่องจากการแข่งขันกันสูงและคุณภาพข้าวพม่านั้นต่ำกว่าประเทศทั้งสอง อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ ก็มีความคิดที่จะปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อให้ข้าวพม่านั้นมีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต

2.4 การส่งออกข้าวของอินโดนีเซีย

Mustafa Abubakar ประธานของ Bulog ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ดูแลการส่งออกข้าวของประเทศอินโดนีเซีย ได้เปิดเผยว่า ประเทศมาเลย์เซียได้แสดงความประสงค์ที่จะนำเข้าข้าวคุณภาพปานกลางของประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 1 ล้านตัน นอกจากนี้ ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศแอฟริกาใต้ก็ต้องการนำเข้าข้าวคุณภาพปานกลางของอินโดนีเซียเช่นกัน

โดยปีนี้ ประเทศอินโดนีเซียเพิ่งจะส่งออกข้าวคุณภาพดีจำนวน 15,000 ตัน หลังจากที่ประเทศประสบความสำเร็จตามแผนการผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียให้การสนับสนุนชาวนาด้านพันธุ์ข้าวและปุ๋ยแก่ชาวนา ซึ่งช่วยให้อินโดนีเซียลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศได้

ผลผลิตข้าวปีนี้ของอินโดนีเซียคาดว่าจะอยู่ที่ 38 ล้านตัน ซึ่งจะมีผลผลิตส่วนเกินประมาณ 2 — 3 ล้านตัน โดยทาง Bulog ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวจากเป้าหมาย ที่กำหนดไว้สูงสุดที่ 100, 000 ตันเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลต้องการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศและเพื่อเป็นการสำรองข้าวของประเทศ

นอกจากนี้ ประธานของ Bulog ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากข้าวคุณภาพปานกลางแล้ว ทาง Bulog ได้วางแผนที่จะขยายตลาดการส่งออกข้าวคุณภาพดีอีกด้วย โดยได้วางแผนที่จะปลูกข้าวคุณภาพดีในพื้นที่ 200,000 เฮกแตร์ หรือ ประมาณ 1.25 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของประเทศ 12 ล้านเฮกแตร์ หรือ ประมาณ 75 ล้านไร่ ในการนี้ Bulog จะเชิญผู้เชี่ยวชาญการผลิตข้าวคุณภาพดีจากประเทศไทยมาถ่ายทอดความรู้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยปีที่ผ่านมาได้ส่งออกข้าวจำนวน 10.1 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 63.3 เป็นข้าวคุณภาพดี

ที่มา Riceonline.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ