สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 จังหวัดชัยนาท เผยพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในหลายพื้นที่ของภาคกลางกว่า 60,000 ไร่ สร้างความเสียหายไปแล้ว 20,000 ไร่ เร่งออกโรงเตือนเกษตรกรรีบตรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมแนะวิธีป้องกันและแก้ไข
นายชวพฤต อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตือนเกษตรกรทำนาในเขตชลประทานภาคกลางให้ระวังการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่า เนื่องจากขณะนี้ เกิดการระบาดของเพลี้ยดังกล่าวในหลายพื้นที่ของภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง พบพื้นที่การระบาด 60,000 ไร่ สร้างความเสียหายให้เกษตรกรไปแล้วจำนวน 20,000 ไร่ ดังนั้น จึงอยากให้เกษตรกรเร่งตรวจแปลงนาให้สม่ำเสมอ หากยังไม่พบการระบาดให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.ตรวจนับจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและศัตรูธรรมชาติ เช่น แมงมุม มวนเขียวดูดไข่ แตนเบียนต่าง ๆ หากมีศัตรูธรรมชาติคือ แมงมุมหมาป่า และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในอัตรา 1 : 5 ก็ไม่ต้องใช้สารเคมี ถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำในแปลงนาได้ ให้ระบายน้ำออกให้แห้งประมาณ 7 — 10 วัน เพื่อปรับสภาพไม่ให้เหมาะสมกับตัวอ่อน
2.ในนาหว่านน้ำตมไม่ควรหว่านข้าวหนาแน่นเกินไป ถ้าปรับเปลี่ยนเป็นนาดำได้จะช่วยลดและป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดได้ ส่วนการใส่ปุ๋ยไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปเพราะลำต้นอ่อน น้ำมาก เพลี้ยจะชอบดูดกิน แต่ถ้าในแปลงมีการระบาดมากให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแล้วนำไปทำลาย
2.ถ้าหากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังมีปริมาณมาก อากาศแห้ง และข้าวเริ่มแสดงอาการให้ปฏิบัติดังนี้คือ ใช้เชื้อราขาวบิวเวอร์เรีย อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบฉีดเวลาเช้าหรือเย็น และควรพ่นให้เชื้อราสัมผัสกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยตรง ก็จะสามารถควบคุมได้ แต่ในกรณีที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลปริมาณมากกว่า 5 เท่าของศัตรูธรรมชาติให้ใช้สารเคมีพ่นจำกัด เช่น อิมิโคลพลิด (คอนฟิดอร์) เอสแอล อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไอโซโปรคาร์ป (มิพซิน) 50 % ดับบลิวพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
นายชวพฤต กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรในภาคกลางเคยพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดมาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปีมาแล้ว จนสามารถคิดค้นสร้างภูมิปัญญาป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้หลายพันธุ์เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 ดังนั้น ถ้าเกษตรกรมีการระมัดระวังและเลือกพันธุ์ข้าวอย่างถูกต้อง ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--