วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์สหรัฐฯ ส่งผลเศรษฐกิจการค้าของโลกชะงัก กำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวลง ฉุดตลาดข้าวโพดหวานไทยซบเซา แนะ หากไทยยังต้องการรักษาแชมป์ส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องของโลก ต้องปรับกลยุทธ์ เน้นตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง เพื่อชดเชยตลาดยุโรป
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการ และรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ที่เกิดวิกฤตทางการเงินในสหรัฐอเมริกา และลุกลามไปยังสหภาพยุโรป (EU) และอีกหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าของโลกชะลอตัว ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ค่าเงินยูโรของยุโรปและเงินรูเบิ้ลของรัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักข้าวโพดหวานกระป๋องของไทยอ่อนค่าลง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศนั้นหดตัวลง เป็นเหตุให้ประเทศคู่ค้าของไทยต้องลดปริมาณการซื้อข้าวโพดหวานกระป๋องจากไทย และจากการติดตามสถานการณ์ข้าวโพดหวานในปีนี้ พบว่า ข้าวโพดหวานมีผลผลิตประมาณ 334,700 ตัน ปริมาณใกล้เคียงกับปีที่แล้ว มีผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกประมาณร้อยละ 80 ที่เหลือใช้บริโภคในประเทศร้อยละ 20 ซึ่งการส่งออกข้าวโพดหวานส่วนใหญ่จะส่งออกในรูปข้าวโพดหวานปรุงแต่ง และในปี 2552 คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 3,800 ล้านบาท ลดลงจาก 4,800 ล้านบาท ของปีที่ผ่านมาหรือคิดเป็นร้อยละ 20 ส่วนประเทศคู่ค้าที่สำคัญนั้น ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และไต้หวัน
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องลดปริมาณการผลิตลงตามปริมาณการสั่งซื้อที่ลดลง และยังมีผลทำให้ราคารับซื้อข้าวโพดหวานที่โรงงานแปรรูปรับซื้อจากเกษตรกรลดลงด้วย โดยราคาข้าวโพดหวานดิบทั้งเปลือก กก.ละ 4.50 บาท เหลือ กก.ละ 3.80 บาท ซึ่งกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ไม่คุ้มค่าต่อการผลิตและอาจทำให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทนในช่วงฤดูต่อไป ทำให้มีผลกระทบต่อการผลิตโดยรวมของประเทศ ซึ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ฝรั่งเศส ฮังการี หรือแม้แต่จีนเอง ก็พยายามเข้าไปเบียดแย่งตลาดกันอยู่ โดยการรุกเปิดตลาดใหม่ๆ ได้แก่ ตลาดเอเชีย และตลาดตะวันออกกลาง เพื่อชดเชยตลาดยุโรปและตลาดรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม หากไทยยังต้องการรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในการส่งออกข้าวโพดหวาน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงภาคเอกชน ทั้งสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานแปรรูปและผู้ประกอบการ ควรร่วมมือกันกำหนดแนวทางการแก้ไข เช่น เข้มงวดเรื่องคุณภาพในการส่งออกโดยจัดทำมาตรฐานกลาง โดยใช้สัญลักษณ์ Q ผู้ส่งออกไม่ควรขายตัดราคากัน ส่งเสริมการขยายตลาดในแถบเอเชีย และทำการประชาสัมพันธ์ โดยจัดงานแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมให้ตลาดทั่วโลกรู้จักสินค้าของไทยมากขึ้น ซึ่งเชื่อแน่ว่า ไทยจะสามารถยืนหยัดในการเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ของโลกได้ต่อไป นางนารีณัฐ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--