ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Thursday July 30, 2009 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ ผ่านมา เนื่องจากมีฝนตกแทบทุกพื้นที่ทำให้มีอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะลดลง

สถานการณ์ต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาร์เจนตินา ประกาศเตือนทั่วประเทศภายหลังจากที่สุกรหลายตัวในฟาร์มที่ประเทศอาร์เจนตินาติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ สถาบันควบคุมมาตรฐานด้านการเกษตรและอาหารแห่งชาติของอาร์เจนตินา รายงานจากการตรวจสอบทางคลินิกพบว่า สุกรในฟาร์มแห่งหนึ่งที่กรุงบูเอโนสไอเรส มีเชื้อไวรัส H1N1 ทั้งนี้ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการทดลอง สำหรับประเทศอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่สอง หลังจากประเทศแคนาดาพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ในสุกร ขณะที่อาร์เจนตินาพบผู้ติดเชื้อหลายพันคน และเสียชีวิต 137 คน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือน

สถานการณ์ในประเทศ

หลังจากการพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส H1N1 จากคนไปสู่สุกรที่ประเทศอาร์เจนตินา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์และกระทรวงเกษตรฯ ได้ติดตามปัญหาและจัดคณะทำงานเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นไข้จะให้หยุดทำงานในฟาร์มทันที อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ เพราะเชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถติดเชื้อได้จากสารคัดหลั่งของสุกรเท่านั้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 57.87 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 58.32 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.77 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 56.07 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 56.67 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.08 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 63.01 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,500 บาท (บวกลบ 58 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 55.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.80 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 65.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.53

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ลดลง เนื่องจากมีฝนตกแทบทุกพื้นที่ทำให้มีอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคไก่เนื้ออ่อนตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะลดลง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และกรมปศุสัตว์ ร่วมกันทำพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงการพัฒนางานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ การพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อพื้นเมืองไทย “ไก่เนื้อโคราช” เพื่อการผลิตเป็นอาชีพวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี คือปี 2552-2555 โดยให้การสนับสนุนทุนวิจัยและด้านวิชาการทำการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช ส่วนกรมปศุสัตว์ให้การสนับสนุนไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์เหลืองหางขาวและบุคลากรในการวิจัย ขณะที่กลุ่มทำนา ต.ลาดบัวขาว จะเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยที่ได้ในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์จริง เป้าหมายของโครงการไก่เนื้อโคราช คือ พัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อพื้นเมืองเพื่อการผลิตเป็นอาชีพธุรกิจชุมชน ในจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพึ่งพาระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว คุณสมบัติเด่นของไก่เนื้อโคราชคือ คุณภาพเนื้อใกล้เคียงกับไก่พื้นเมือง ซึ่งตรงกับบริโภคนิสัยของคนในพื้นที่ คือเนื้อนุ่ม แน่น รสชาติอร่อย และคลอเลสเตอรอลต่ำ แต่ให้ผลผลิตดีกว่าไก่พื้นเมือง สามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมได้ คือ สายแม่พันธุ์จะผลิตลูกไก่ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 120 ตัว และลูกไก่ที่ได้จะมีน้ำหนักตัว 1.2-1.4 กิโลกรัมเมื่ออายุ 12 สัปดาห์ ซึ่งผลผลิตจากแม่พันธุ์หนึ่งตัวจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 10,000 บาท สำหรับไก่เนื้อโคราช คือไก่ลูกผสมพื้นเมือง (เลือดพื้นเมือง 50%) ระหว่างสายพ่อพันธุ์ไก่พื้นเมืองเหลืองหางขาวกับสายแม่พันธุ์ มทส.ที่จะพัฒนาขึ้น ไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์เหลืองหางขาวนี้ เป็น 1 ใน 4 พันธุ์ (ประดู่หางดำ ชี และแดง) ที่ สกว. และกรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกันพัฒนาขึ้นระหว่างปี 2545-2550 จนได้ลักษณะประจำพันธุ์ตามหลักวิชาการ ปัจจุบันดำรงฝูงอยู่ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์กบินทร์บุรี ลักษณะเด่นคือ ผิวหนังและแข้งมีสีเหลืองซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดไก่ย่าง อย่างไรก็ตาม สายแม่พันธุ์ มทส.จะพัฒนาจากสายพันธุ์ไก่เนื้อและสายพันธุ์ไก่ไข่เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการไข่ เน้นพันธุ์ที่หาได้ในประเทศไทย เพื่อลดปัญหาการนำเข้า ผลที่ได้จากโครงการนี้ คือสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถสร้างอาชีพทางเลือกให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนและนักศึกษาทุกระดับให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ และวิธีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างสมดุล

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 39.21 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.60 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.98 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 41.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 38.12 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 38.58 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 48.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาได้มีการปลดแม่ไข่ไก่ยืนกรงอย่างจริงจัง เพือลดปริมาณผลผลิต ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้นเล็กน้อย

จากข่าวพบไข่ไก่ปลอมจากประเทศจีน กระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบการนำเข้าไข่ไก่ปลอมจากต่างประเทศ และขอความร่วมมือกรมศุลกากรเฝ้าระวังใน 2 เรื่อง คือ 1.การนำเข้าไข่ไก่ปลอม และ2.การนำเข้ายาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ปลอมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างไข่ไก่ส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม มีโทษจำคุก 10 ปี และปรับเงินตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท ส่วนยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ปลอม ผู้ขายหรือนำเข้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท ผู้ผลิตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000-50,000 บาทหากตรวจพบมีโทษจำคุก 6 เดือน — 10 ปี และปรับเงิน 5,000 — 100,000 บาท อย่างไรก็ตามจากการสุ่มตรวจสอบไข่ไก่ในท้องตลาดเบื้องต้น ยังไม่พบมีการจำหน่ายไข่ไก่ปลอมในประเทศไทยแต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์จีนกล่าวถึงไข่ปลอมว่ามีลักษณะเหมือนไข่จริง แต่ไม่มีโปรตีน มีสารเคมีหลายชนิดเป็นส่วนผสม เช่น สารส้ม โซเดียม อัลจิเนต เจลาติน แคลเซียม คลอไรด์ และโซเดียม เบนโซเอต โดยไข่แดงถูกย้อมสีด้วยเกลือ หรือเอสเตอร์ของกรด "ทาร์ทาริค เอซิด" ซึ่งใช้ทำเครื่องดื่มที่มีฟอง และขนมฟู รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมถ่ายรูปและฟอกหนัง และไข่ขาวใช้เจลาตินที่ทำเจลลี่และแป้ง รวมทั้งอะลูมิเนียม ส่วนเปลือกไข่ปลอมทำจากสารแคลเซียม คาร์บอเนต และพาราฟินแวกซ์ผสมกับน้ำ

นายโล วิงลก แพทย์ชาวจีน เผยว่า การบริโภคอะลูมิเนียม ซึ่งมีสารส้มเป็นส่วนประกอบเป็นเวลานาน มีผลทำให้การทำงานของระบบจิตประสาทช้าลง และแคลเซียมซึ่งเป็นส่วนผสมในไข่ไก่ปลอมจะไม่ละลายหรือย่อยสลาย แต่ร่างกายสามารถขจัดผ่านการขับถ่ายได้ ความเสี่ยงที่เป็นอันตราย ถือว่ามีไม่มาก เว้นแต่ว่าจะบริโภคปริมาณมากและใช้หรือบริโภคบ่อยๆ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 254 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 247 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.77 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 257 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยฟองละ 257 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 248 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 268 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 27.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 277 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 267 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.75

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 285 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 284 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.39 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 257 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 300 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 271 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 335 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.44 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.34 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.24 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.88 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.01 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 36.95 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 53.60 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 34.87 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 49.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 32.05 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 - 26 กรกฎาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ