ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Thursday August 6, 2009 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะตลาดค่อนข้างซบเซา เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้มีการบริโภคอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 57.29 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 57.87 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.00 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 56.12 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 55.13 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 57.94 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 62.16 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,500 บาท (บวกลบ 58 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้อ่อนตัวเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้มีการบริโภคอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคไก่เนื้อชะลอตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรืออ่อนตัวลงเล็กน้อย

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย รายงานการส่งออกสินค้าไก่แปรรูป (ไก่สุก) ของไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ว่าส่งออกปริมาณ 183,312 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.08 ขณะที่มีมูลค่า 25,377 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.02 โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 380,000-400,000 ตัน มูลค่า 46,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 มีการส่งออกประมาณ 401,000 ตัน มูลค่า 55,0000 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักคือ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) สาเหตุการส่งออกสินค้าไก่แปรรูปของไทยขยายตัวลดลงในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่หดตัวลงทั่วโลก แต่คาดว่าครึ่งหลังของปีนี้สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นได้เริ่มหันไปนำเข้าไก่แปรรูปจากจีนเพิ่มมากขึ้น หลังจากระแสข่าวความปลอดภัยด้านอาหารของจีนเริ่มซาลง ขณะที่ราคาสินค้าก็เริ่มปรับตัวลดลง เช่น ในตลาดอียูจากครึ่งหลังของปี 2551 ราคาเฉลี่ยที่เกือบ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปัจจุบันลดลงเหลือ 3,200-3,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้เป้าหมายที่วางไว้อาจได้รับผลกระทบ ด้านสถาบันอาหารได้ปรับเป้าการส่งออกสินค้าหมวดอาหารของไทยในปี 2552 ใหม่จากเดิมคาดส่งออก 7 แสนล้านบาท เป็น 7.2 แสนล้านบาท เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลกครึ่งหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวและอาหารเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ

อธิบดีกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ครบวงจร ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน)หรือซีพีเอฟ ที่จังหวัดนครราชสีมา ตามโครงการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหาร ประจำปี 2552 ซึ่งให้ความสำคัญกับระบบการเลี้ยงและการผลิตตามมาตรฐาน Food Safety ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์คุณภาพตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (Traceability) ซึ่งซีพีเอฟถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกของอุตสาหกรรมที่ริเริ่มใช้ระบบป้องกันโรคตามแนวคิดของคอมพาร์ทเม้นท์ (Compartment)

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 39.12 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.21 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.23 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 41.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 38.12 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 38.58 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 48.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเริ่มสมดุลกับความต้องการบริโภคและเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะผลจากช่วงที่ผ่านมาได้มีการปลดแม่ไข่ไก่ยืนกรงเพื่อลดปริมาณผลผลิต ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 253 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 254 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.38 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 255 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยฟองละ 257 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 248 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 264 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 27.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 277 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 285 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 257 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 300 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 271 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 335 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.09 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.44 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.81 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 62 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.81 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 46.04 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 53.60 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 34.45 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.87 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.20 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.94 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ