ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Friday August 14, 2009 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะตลาดค่อนข้างซบเซา เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้มีการบริโภคอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 57.01 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 57.29 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.49 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 55.60 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 54.23 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.24 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 62.16 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 58) สูงขึ้นจากตัวละ 1,500 บาท (บวกลบ 58 บาท) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 6.67

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการได้ปรับลดปริมาณการผลิตให้สมดุลย์กับความต้องการบริโภค ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้มีการบริโภคอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภค ไก่เนื้อชะลอตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรืออ่อนตัวลงเล็กน้อย

มีรายงานว่าสหภาพยุโรป (อียู) จะขอเปลี่ยนแปลงภาษีนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกแปรรูป 8 รายการ ซึ่งในจำนวนนี้ 5 รายการ ไทยเป็นผู้ส่งออกไปอียูรายใหญ่ที่สุด กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางในการดำเนินการว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้จะต้องเร่งกำหนดกรอบเจรจาเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อจะได้เจรจาขอชดเชยผลประโยชน์จากอียู ขณะที่สินค้าสัตว์ปีกแปรรูป 8 รายการ เสียภาษีนำเข้าเฉลี่ย 10.9% แต่หากจะมีการปรับเปลี่ยนไปกำหนดโควตานำเข้าหรือถ้านอกโควตาอาจส่งผลให้ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งอียูจะขอปรับเปลี่ยนอัตราภาษีที่ผูกพันไว้ใน WTO ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีเนื้อไก่ เป็ดห่านเป็นส่วนประกอบ เช่นในลักษณะขนมจีบที่มีเนื้อไก่อยู่ภายใน เปาะเปี๊ยะไก่ แกงไก่บรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ เป็นต้น ไม่ใช่เนื้อไก่แปรรูปล้วนๆ เหมือนที่ไทยได้โควตานำเข้าอียูปีละ 160,033 ตันก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามในจำนวน 8 รายการนี้อียูมีการนำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 รายการ และอีก 1 รายการส่งออกเป็นอันดับสอง โดย 5 รายการ ประกอบด้วย เนื้อไก่แปรรูปที่มีสัดส่วนเนื้อไก่น้อยกว่า 25% (พิกัด 16023290) เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป(ดิบ)ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่า 57% (พิกัด 16023921)เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป(ปรุงสุก)ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่า 57% (พิกัด 16023929) เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป(ดิบ) ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่า 25% แต่ไม่เกิน 57% (พิกัด 16023940)และเนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูปที่มีสัดส่วนเนื้อน้อยกว่า 25% (พิกัด 16023980) ส่วน 1 รายการที่นำเข้าเป็นอันดับสองคือ ตับเป็ด และตับห่านพิกัด (16022010) โดยในปีที่ 2551 อียูมีการนำเข้าจากไทยปริมาณกว่า 21,000 ตันมูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เห็นว่า หากมีการเจรจาเรื่องการชดเชยผลประโยชน์ สูตรในการชดเชยคงคล้ายกับการเจรจาต่อรองที่ไทยเคยได้โควตาไก่แปรรูปในพิกัดที่มีสัดส่วนเนื้อไก่มากกว่า 57% จำนวน 160,033 ตันก่อนหน้านี้ โดยสูตรในการให้โควตาอาจพิจารณาจากปริมาณนำเข้าไก่ของอียูใน 8 พิกัดที่จะมีการปรับเปลี่ยนอัตราภาษี ในปีที่ผ่านมา บวกกับอัตราการขยายตัวของการนำเข้าในปีเดียวกันซึ่งรวมได้เท่าไหร่แล้วจะแบ่งโควตาการนำเข้าให้แต่ละประเทศรวมทั้งไทยตามส่วนแบ่งตลาด ซึ่งในโควตาอาจเสียภาษีเท่าเดิมคือเฉลี่ย 10.9% หรือต่ำกว่าขึ้นกับการเจรจา ส่วนนอกโควตาอาจเสียภาษีนำเข้าสูงกว่า 50% ซึ่งถือเป็นการจำกัดอัตราการขยายตัวของไก่ไทยในอนาคต

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่า การขอเปลี่ยนแปลงตารางภาษีสินค้าสัตว์ปีกแปรรูปของอียูในครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอียูพยายามจะปกป้องอุตสาหกรรมภายในซึ่งถือเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่ง เชื่อแน่ว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไทยจะเสียประโยชน์ ซึ่งในการเจรจาต่อรองไทยต้องได้รับโควตาไม่น้อยกว่าปริมาณนำเข้าในแต่ละปีที่ผ่านมา บวกอัตราการขยายตัว รวมถึงต้องเร่งเจรจาขอให้อียูนำโควตาไก่หมักเกลือที่ให้กับไทยปีละ 92,610 ตัน อัตราภาษีในโควตา 15.4% ซึ่งนับแต่เกิดโรคไข้หวัดนกในปี 2548 ไทยไม่สามารถส่งออกไก่หมักเกลือไปอียูได้ เพราะเป็นไก่สดยังติดปัญหาโรคไข้หวัดนก ดังนั้นควรนำโควตาดังกล่าวมาเพิ่มเติมในส่วนของโควตาไก่แปรรูป(ไก่สุก)ให้กับไทย ด้านผู้ส่งออกไก่ กล่าวว่า การเจรจาโอนโควตาไก่หมักเกลือมาเพิ่มในโควตาไก่แปรรูป ยังติดปัญหาที่ผู้ส่งออกของไทยขัดแย้งกันเอง โดยบางรายยังอยากส่งออกไก่สดแช่แข็งไปอียู และพยายามเร่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปเจรจาเพื่อเปิดตลาดไก่สดอีกครั้ง ขณะที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่เห็นว่าไทยน่าจะส่งออกในรูปไก่แปรรูปหรือไก่สุกมากกว่า เพราะสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้ รวมทั้งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขายได้ราคาสูงกว่าไก่สด ทั้งนี้ตลาดอียูถือเป็นตลาดส่งออกไก่ที่สำคัญของไทยจากช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยมีการส่งออกไก่แปรรูปปริมาณ 184,576 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.78 มูลค่ารวม 25,524 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.6 ในจำนวนนี้ส่งออกไปอียูปริมาณ 86,843 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ส่วนในปี 2551 ไทยมีการส่งออกไก่แปรรูปประมาณ 401,474 ตัน มูลค่า 55,423 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดอียูประมาณ 179,269 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.65 ของการส่งออกในภาพรวม อย่างไรก็ตามจากตัวเลขการส่งออกไปตลาดอียูในครึ่งแรกของปีนี้ส่งออกไปแล้วถึง 86,843 ตัน จากโควตาที่ได้รับ 160,033 ตัน ซึ่งครึ่งหลังจากแนวโน้มการส่งออกที่ดีกว่าครึ่งปีแรก และขณะนี้ออร์เดอร์นำเข้าจากอียูคาดว่าไทยจะส่งออกไก่ไปอียูเกินโควตาที่ได้รับ ซึ่งหมายความว่าส่วนที่เกินโควตาต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 1,024 ยูโรต่อตัน หรือราว 53% จากในโควตาเสียภาษีเพียง 8% ซึ่งผู้ที่นำเข้าเป็นผู้ที่เสียภาษีคงต้องวางแผนการนำเข้าให้ดี ขณะที่ผู้ประกอบการไทยอาจถูกต่อรองราคาสินค้าลง และหากนำเข้าเกินโควตาจะต้องแบกรับอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 39.08 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.12 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.10 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 40.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 38.34 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 38.75 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 48.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่เริ่มคึกคัก ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เพราะเป็นฤดูกาลที่มีการผลัดเปลี่ยนรุ่นแม่ไก่ไข่ ขณะที่สถานการณ์ราคาไข่ไก่มีการปรับขึ้นราคา 20 -30 สตางค์ต่อฟอง และล่าสุดปรับขึ้นอีก 10 สตางค์ต่อฟอง ทั้งนี้สาเหตุที่มีการปรับราคาเพราะช่วงที่ผ่านมามีการปลดปริมาณแม่ไข่ไก่ยืนกรง ร้อยละ 10-20 หรือประมาณ 2.17 ล้านตัว ประกอบกับในปีนี้ราคาลูกไก่ไข่มีการปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งราคาอาหารไก่ไข่ยังทรงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 259 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 253 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.17 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 255 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยฟองละ 257 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 257 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 264 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 27.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 285 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 277 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.89

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 285 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 257 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 300 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 271 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 335 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.23 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.09 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.31 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.81 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 46.76 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 53.60 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 34.45 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.94 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 3 - 9 สิงหาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ